ดรามา "ไข่ต้ม" ไม่เท่ากับความพอเพียง สพฐ.สั่งแก้เนื้อหา

สังคม
24 เม.ย. 66
10:31
24,815
Logo Thai PBS
ดรามา  "ไข่ต้ม" ไม่เท่ากับความพอเพียง สพฐ.สั่งแก้เนื้อหา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ไข่ต้ม" กับ ด.ญ.ใยบัว จากตำราเรียนสู่ปมดรามาในชีวิตจริงและโลกออนไลน์ ฟังหลากมุมมองสะท้อนโภชนาการ และความพอเพียง ล่าสุด สพฐ.สั่งให้แก้เนื้อหาบนหนังสือ โดยเติมคำว่า "เป็นเพียงการยกตัวอย่าง"

ประเด็นดรามาเดือดบนโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายสัปดาห์กับกระแส กับ ด.ญ.ใยบัว "กินข้าวไข่ต้มครึ่งซีก เหยาะน้ำปลา" และ "ข้าวเปล่าคลุกน้ำผัดผักบุ้ง" ในแบบเรียนพาทีชั้น ป.5 ที่สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์วงกว้าง และยังคงติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่งกับแฮชแท็ก "ไข่ต้ม"

วันนี้ (24 เม.ย.2566) นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาในตำราเรียนภาษาพาที ป.5 เตรียมให้คณะกรรมการสำนักวิชาการหารือกับผู้เขียน แก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหา เพื่อการสื่อสารทำความเข้าใจให้ชัดเจนเรื่องโภชนาการอาหารใหม่ ในประเด็นที่ถูกวิจารณ์ว่า ให้เด็กกินข้าวไข่ต้มครึ่งซีกคลุกน้ำปลา เป็นอาหารที่ไม่ครบ 5 หมู่โดยจะมีการเติมข้อความย้ำว่า

เป็นเพียงการยกตัวอย่างเท่านั้น

โภชนาการไม่ครบ-แนะแก้แบบเรียน

สอดคล้องกับความเห็นของนายสง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า ในฐานะนักโภชนาการ มองว่าการยกตัวอย่างไข่ต้มครึ่งซึก เหยาะน้ำปลา และราดด้วยน้ำผัดบุ้ง เป็นการยกตัวอย่างในแบบเรียนชั้น ป.5 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นำภาษามาผูกกับทักษะชีวิต และมายกตัวอย่างดังกล่าว แต่กลับทำให้ขัดกับความรู้สึกทางวิชาการ และอาจจะไม่ตอบโจทย์สำหรับเด็ก ป.5 ว่าจะเข้าใจว่ากินเท่านี้ ชีวิตมีความสุขได้หรือไม่

ทางโภชนาการ ไข่ต้มครึ่งซึก เหยาะน้ำปลา และราดด้วยน้ำผัดบุ้ง จะไม่ได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่แน่นอน จึงเสนอให้ศธ.แก้ไขหรือขยายความเนื้อหาที่สอนในตำราให้ชัดเจน เพื่อให้เด็กนักเรียนชั้น ป.5 ที่เรียนภาษาไทยจากตำราเล่มนี้เข้าใจ ไม่สับสน หรือนำไปทำตามในชีวิตจริง

นักโภชนาการ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เสนอว่าหากกระทรวงศึกษาธิการจะทำเนื้อหาวิชาการ หรือตำราเรียนแบบนี้ ที่เกี่ยวกับวิชาการอื่น ควรมีนักวิชาการด้านอื่นๆ เช่น นักโภชนาการ นักจิตวิทยา ไม่ใช่แค่มีเพียงด้านการศึกษาเท่านั้นอย่างไรก็ตาม ในมุมของนักโภชนาการ มองว่ากระแสไข่ต้ม สะท้อนชัดว่าสังคม และผู้ปกครองตื่นตัว และโยงไปถึงการกินอาหารกลางวันในโรงเรียน 

ไม่อยากให้นำเรื่องไข่ต้มไปโยงการเมืองก่อนการเลือกตั้ง และให้ ศธ.ฟังเสียงสังคม เพื่อไม่ให้ตำราเรียนสร้างความสับสนในชีวิตจริง

คนออนไลน์-การเมืองกับกระแสไข่ต้ม 

ขณะที่โลกออนไลน์ ยังคงวิจารณ์ในประเด็นนี้กันอย่างต่อเนื่องในหลากหลายวงการ แม้จะเสียงแตกทั้งในเรื่องความพอเพียง และโภชนาการ ยกตัวอย่างคนดัง ไพรวัลย์ วรรณบุตร โพสต์เฟซบุ๊กว่า

ดิฉันเคยโตมาด้วยการกินไข่ต้ม 1 ลูกแบ่งกัน 3 คน ดิฉันจึงอยากบอกว่า การกินหลากหลายจำเป็นมากค่ะ และการขาดสารอาหารตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่เรื่องโรแมนติกเลยจบ

ส่วนที่ถูกวิจารณ์มากคงหนีไม่พ้น นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้โพสต์คลิปขณะกินไข่ต้มกับลูกชาย โดยมีข้อความว่า

ไข่ต้ม ลูกชาย ชอบกิน อร่อย ดี มีประโยชน์

พร้อมกับติดแฮชแท็ก Saveไข่ต้ม ไข่ต้ม ไข่ต้มเป็นอาหารที่ไม่มีชนชั้น อยู่อย่างพอเพียง ซึ่งทำให้เกิดกระแสตีกลับ

ทั้งนี้ยังเกิดกระแสในโลกออนไลน์ในหลายวงการที่ออกมาพูดถึงไข่ต้มในแง่มุมต่างๆ 

สำหรับข้อมูลทางโภชนาการ ไข่ต้ม 1 ฟอง ให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี่ ไข่ลวก 1 ฟอง ให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี่ ไข่ดาว 1 ฟอง ให้พลังงาน 165 กิโลแคลอรี่ ไข่เจียว 1 ฟอง ให้พลังงาน 250 กิโลแคลอรี่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง