อำนาจ 2 นายพล บนความเสี่ยงนับล้านของชาวซูดาน

ต่างประเทศ
24 เม.ย. 66
16:32
1,184
Logo Thai PBS
อำนาจ 2 นายพล บนความเสี่ยงนับล้านของชาวซูดาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ซูดาน" ประเทศที่จนติดอันดับ 4 ของโลก เนื่องจากสภาวะที่ประเทศต้องเผชิญสงครามกลางเมืองมาอย่างยาวนาน แต่การสู้รบที่เกิดขึ้นขณะนี้ถือเป็น "ครั้งแรก" ที่ทหารยกปืนสู้กันเอง ท่ามกลางตัวประกัน "ชาวซูดาน" นับล้านคน ซ้ำเติมปัญหาความยากจนและเศรษฐกิจถดถอย

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2564 มีการรัฐประหารรัฐบาลของ ปธน.โอมาร์ อัล-บาชีร์ เกิดขึ้น เนื่องจากการปกครองรูปแบบเผด็จการที่ยาวนานร่วม 3 ทศวรรษ โดยประชาชนประท้วงขับไล่ตามท้องถนน และกองกำลังทหารของ 2 นายพล

พล.อ.อับเดล ฟัตตาห์ อัล–บูร์ฮัน ผู้บัญชาการกองทัพซูดาน (ทหารล้วน)
และ พล.อ.โมฮาเหม็ด ฮัมดัน ดากาโล ผู้บัญชาการกองกำลัง RSF หรือ Rapid Support Forces (RSF) (ทหารและพลเรือน)

วิเคราะห์ : วัดพลัง "ตัวกลาง" ยุติความขัดแย้ง 2 ฝ่ายในซูดาน

หลังจากที่เข้ายึดอำนาจเบ็ดเสร็จ พล.อ.อัล-บูร์ฮัน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งซูดาน ขณะที่ พล.อ.ดากาโล รับตำแหน่งรองประธานาธิบดี แม้ผู้คนเรียกร้องให้มีการปกครองโดยพลเรือน และกองทัพจำยอมที่จะเปิดแผนเจรจาเพื่อเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย

แต่สุดท้าย รัฐบาลผสมของทหารและพลเรือน ก็ถูกโค่นล้มโดยการรัฐประหารอีกครั้งในเดือน ต.ค.2564

ซูดานกลับเข้าสู่การปกครองโดยทหาร เปลี่ยนเพียงแค่ผู้นำ

แม้เป้าหมายของ พล.อ.อัล-บูร์ฮัน และ พล.อ.ดากาโล จะเหมือนกันคือการโค่นล้มรัฐบาลของ อัล-บาชีร์ แต่แนวคิดในการบริหารของแต่ละคนนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง

โดยเฉพาะความต้องการที่จะนำกองกำลัง RSF เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพซูดาน รวมถึงการแต่งตั้งผู้นำเหล่าทัพใหม่ ของ พล.อ.ดากาโล

เกิดอะไรกับ "ซูดาน"

หลังจากจัดตั้งรัฐบาลทหารในปี 2564 แล้ว พล.อ.ดากาโล รอง ปธน. ที่สวมหมวกอีกใบคือ ผู้นำกองกำลัง RSF ได้ส่งกองกำลังของตนไปทั่วประเทศ อ้างว่าเพื่อรักษาความสงบในพื้นที่และทำงานร่วมกับกองทัพซูดานของ พล.อ.อัล-บูร์ฮัน

ต่อมา มีการเปิดฉากยิงโดยที่ยังไม่ระบุผู้เริ่มต้นได้ เมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการปะทะที่กินเวลาจนถึงวันนี้ (24 เม.ย.) เกือบ 10 วัน และดูทีท่าว่าจะยังหาทางยุติลงไม่ได้ แม้บรรดานักการทูตนานาชาติต่างเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดยิง เพราะยิ่งทำให้ซูดานไร้เสถียรภาพเพิ่มขึ้น

"ซูดาน" กับวังวนแห่งสงครามกลางเมือง

"ซูดาน" มีเมืองหลวง ชื่อ "คาร์ทูม" แต่มีเมืองท่าที่เป็นศูนย์กระจายสินค้าที่สำคัญของภูมิภาค ชื่อ "พอร์ตซูดาน" ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทำรายได้ให้กับซูดานเป็นอย่างมาก เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางเรือจากทั่วโลกไปยังประเทศอียิปต์ที่อยู่ทางเหนือของซูดาน จำเป็นต้องผ่าน "คลองสุเอซ" ที่อยู่ด้านบนของเมืองพอร์ตซูดาน

*คลองสุเอซของอียิปต์ เป็นทางลัดในการลำเลียงสินค้าทางเรือระหว่างเอเชียกับยุโรป ซึ่งครอบคลุมการขนส่งกว่า 1 ใน 3 ของทั้งโลกในแต่ละปี

การค้าขายของซูดานเน้นการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่ผ่านการแปรรูป และสินค้าที่ไม่ถูกเพิ่มมูลค่า เช่นน้ำมันดิบ ทองคำ สินค้าเกษตร ขณะที่สินค้านำเข้าคือสินค้าอุปโภค ยา เครื่องใช้ไฟฟ้า

เรียกว่าขุดขึ้นมายังไงก็ส่งขายไปทั้งอย่างนั้น 

ซึ่งมูลค่าสินค้าที่ส่งออกราคาถูกกว่าสินค้านำเข้า ก็ย่อมทำให้เกิดการขาดดุลการค้าอย่างมหาศาล จนทำให้ "ซูดาน" เป็นประเทศที่ยากจนอันดับ 4 ของโลกอ้างอิงจากเว็บไซต์ Atlas&Boote ข้อมูลวันที่ 30 พ.ย.2565

บทวิเคราะห์ : จับตาชาติมหาอำนาจชิงผลประโยชน์ในซูดาน

ในแง่ประวัติศาสตร์ ซูดานเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่หลายพันปีร่วมยุคกับอียิปต์โบราณ ได้รับอิทธิพลทั้งจากอาหรับและยุโรป ศาสนาอิสลาม และ คริสต์ ซึ่งเป็นอีก 1 ชนวนปัญหาสงครามกลางเมืองที่ไม่เคยสิ้นสุดจนถึงปัจจุบัน และลามไปจนทำให้ตึก อาคารในซูดานพังยับเยิน ประชาชนไร้ซึ่งตัวอาคารในการทำงาน ผลิตสินค้า ภาคอุตสาหกรรมไม่ถูกกระตุ้น วนอยู่แบบนี้จนถึงปัจจุบัน มีปัญหามาทุกปี

RSF ปมใหญ่ซูดาน 2566

ข้อมูลจาก BBC ระบุว่า RSF ก่อตั้งขึ้นในปี 2556 กำเนิดจากกลุ่มติดอาวุธ จันจาวีด (Janjaweed) เป็นกองกำลังที่มีชื่อเสียงด้านความโหดเหี้ยม เคยถูกกล่าวหาเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการสังหารหมู่ผู้ประท้วงมากกว่า 120 คนในเดือน มิ.ย 2561 และผู้กุมกองกำลังทั้งหมดคือ พล.อ.ดากาโล

นานาชาติอพยพพลเรือนพ้น "ซูดาน" สู้รบยืดเยื้อ-ตายกว่า 400 คน

ซึ่ง พล.อ.อัล-บูร์ฮัน มองว่ากองกำลังนอกกองทัพของ พล.อ.ดากาโล นี้เอง ที่ทรงอิทธิพล และ เป็นต้นตอของความไร้เสถียรภาพในซูดาน

พล.อ.อัล-บูร์ฮัน ต้องการรัฐบาลทหารที่มาจากทหารแท้ๆ และไม่ยอมลงจากอำนาจอันดับ 1 ของประเทศ
พล.อ.ดากาโล ต้องการเป็นที่ 1 ผ่านการผลักดันกองกำลังทหารผสมพลเรือนของตนเองเข้ารับราชการทหาร

ไร้เจรจา-ไร้อนาคต

นักการทูตหลายคนพยายามผลักดันให้ซูดานกลับสู่การปกครองของพลเรือน และพยายามหาหนทางให้นายพลทั้ง 2 หันหน้าเข้าเจรจากัน เพื่อยุติความสูญเสียต่อประชาชนซูดานที่ขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิตเกือบครึ่งพันแล้ว

แต่กว่าจะถึงตอนนั้น ฝ่ายที่ต้องทนทุกข์กับปัญหาความไม่สงบที่ยืดเยื้อในประเทศคือ "ซูดาน" ทั้งประเทศและประชาชน

พล.อ.ดากาโล ประกาศว่ากองกำลัง "RSF ของเขาจะเดินหน้าสู้ต่อไป" จนกว่าจะยึดฐานทัพทหารได้ทั้งหมด ขณะที่กองทัพซูดานของ พล.อ.อัล-บูร์ฮัน ประกาศไม่เข้าร่วมการเจรจาใดๆ "จนกว่า RSF จะสลายตัว"

นานาประเทศพยายามเป็นตัวกลางเข้าร่วมเจรจา เพื่อให้ปัญหาระหว่าง 2 นายพลยุติลง ขณะที่ กระทรวงการต่างประเทศของไทยกำลังพิจารณาจุดที่เป็นไปได้ที่เหมาะสมในการรับคนไทย เมื่ออพยพออกจากซูดาน เช่น อียิปต์, ซาอุดีอาระเบีย ​รวมถึงเจรจากับมิตรประเทศในการร่วมกันอพยพคนชาติของตน

'ซูดาน' เผชิญสงครามความขัดแย้งทางการเมืองมานับครั้งไม่ถ้วน แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ ทหารยกปืนต่อสู้กันเอง โดยมีประชาชนชาวซูดานนับล้านเป็นตัวประกัน ซ้ำเติมปัญหาความยากจนและภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง