เรียกร้องนายจ้างคำนึงถึงสิทธิสุขภาพของ "แรงงานข้ามชาติ"

ภูมิภาค
1 พ.ค. 66
15:36
325
Logo Thai PBS
เรียกร้องนายจ้างคำนึงถึงสิทธิสุขภาพของ "แรงงานข้ามชาติ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผอ.ศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ ชายขอบ และแรงงานข้ามชาติ ระบุ รพ.เรียกเก็บเงินแรงงานข้ามชาติได้ร้อยละ 40-50 จนอาจสร้างปัญหาด้านการเงิน เรียกร้องนายจ้างคำนึงสิทธิสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ และผู้ติดตาม ให้แรงงานสามารถทำงานได้ดี และไม่กระทบกับสุขภาวะของชาวไทย

วันนี้ (1 พ.ค.2566) นพ.สุรพันธ์ แสงสว่าง ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ ชายขอบและแรงงานข้ามชาติ ต.ห้างฉัตร อ.ห้างฉัตร จ.ลำปางเปิดเผยว่า ศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ฯ มีหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ชาติพันธุ์ หรือ กลุ่มชายขอบ ที่มีปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุข เพื่อแก้หรือลดปัญหาสุขภาพ

เนื่องจากประเทศไทยจำเป็นต้องมีแรงงานร่วมในกิจการต่างๆ เพื่อพัฒนาประเทศ เขาจึงมีสิทธิเข้ารับบริการด้านสุขภาพ

หากเราไม่ให้การดูแลแรงงานกลุ่มนี้ อาจเจ็บป่วยด้วยโรคที่มาจากการทำงานหรือโรคประจำตัวที่มีอยู่แล้ว ซึ่งจะมีผลต่อการทำงาน ส่งผลกระทบกับคนไทยเอง

กรณีป่วยเป็นโรคติดต่อเช่น โรคโควิด-19 ที่อาจแพร่ข้ามแดนเข้ามา รวมไปถึงโรคติดต่ออื่นๆ หากไม่ได้รับการรักษาก็จะมีผล ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค

กรณีแรงงานเจ็บป่วยหากทำงานที่เกี่ยวกับอาหาร อาหารที่เรากินเข้าไป ก็อาจมีปัญหา การดูแลสุขภาพของแรงงานจึงส่งผลดีต่อคนไทยด้วย

นอกจากนี้ยังเป็นการลดปัญหาภาระค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลที่รับรักษาแรงงานข้ามชาติ เพราะแม้จะมีระบบประกันสังคมอยู่ แต่บางส่วนก็ยังไม่เข้าถึงประกันสังคมหรือไม่มีการซื้อประกันสุขภาพจึงเป็นภาระกับโรงพยาบาล

ที่ผ่านมาพบว่า โรงพยาบาลสามารถเรียกเก็บเงินจากแรงงานข้ามชาติได้เพียงร้อยละ 40-50 หมายความว่าครึ่งหนึ่งมีปัญหาเรื่องของค่าใช้จ่าย อาจทำให้โรงพยาบาลประสบปัญหาทางด้านการเงินได้

ศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ฯ พยายามสร้างแนวทางการแก้ปัญหาสุขภาพแรงงานข้างชาติ ให้มีบริการที่เข้าถึงได้ และเพียงพอ มีบริการที่ยอมรับได้ ราคาเหมาะสม มีความยั่งยืนในการดำเนินการ

นายจ้างต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพ ทั้งแรงงาน และผู้ติดตาม เช่น เรื่องฝากครรภ์ การคลอด การฉีดวัคซีน หรือการกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการเด็ก หากดูแลดีก็จะไม่เจ็บป่วย

สิ่งสำคัญคือการประชาสัมพันธ์ให้แรงงาน และนายจ้างทราบว่า มีสิทธิด้านใดบ้าง และมีการติดตามร่วมกันว่าเรามีรูปแบบบริการสาธารณสุขอะไรบ้าง

รวมทั้งนายจ้างต้องรู้ข้อมูลจำนวนลูกจ้าง และผู้ติดตาม ว่าจะต้องมีผู้ได้รับสิทธิ์เท่าไหร่ และกระตุ้นส่งเสริมให้เข้าสู่ระบบสิทธิประกันสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น ประกันสังคม หรือ หลักประกันสุขภาพ หรือ แม้แต่ผู้มีปัญหาสถานะสิทธิ์ ก็ต้องดำเนินการช่วยกันเพื่อแบ่งเบาภาระ

หากเราดูแลสุขภาพดี งานที่เกิดขึ้นก็จะดีตามไปด้วย ทำให้เกิดความยั่งยืนในการจ้างงาน เกิดความผูกพันระหว่างนายจ้างลูกจ้าง

หากนายจ้างทำให้แรงงานเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพ รัฐก็จะเข้าส่วนสนับสนุน เช่น เรื่องประกันสังคม รัฐร่วมจ่ายส่วนหนึ่ง หรือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็จะเป็นเฉลี่ยความเสี่ยงร่วมกัน นายจ้างให้ความร่วมมือ ก็จะเป็นประโยชน์ และส่งเสริมสิทธิที่แรงงานควรได้รับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง