เลือกตั้ง2566 : วิเคราะห์ “เพื่อไทย-ก้าวไกล” ท้าทาย “บ้านใหญ่” บุรีรัมย์

การเมือง
3 พ.ค. 66
15:19
2,084
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2566 : วิเคราะห์ “เพื่อไทย-ก้าวไกล” ท้าทาย “บ้านใหญ่” บุรีรัมย์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เลือกตั้งครั้งนี้ “บุรีรัมย์” ที่เป็นเมืองหลวง และฐานไข่แดงสำคัญของ “พรรคภูมิใจไทย” จะเป็นอีกพื้นที่เลือกตั้งหนึ่งที่จะถูกท้าทายจากพรรคการเมืองอื่น

เพราะขณะที่พรรคภูมิใจไทยประกาศตอกเสาเข็มในพื้นที่ต่าง ๆ ทุกภาคของไทย รวมทั้งกรุงเทพฯ แต่หารู้ไม่ว่า กำลังเจอศึกหนักจากพรรคคู่แข่งที่จะแอบตีท้ายครัว โดยเฉพาะ 2 พรรคใหญ่ในซีกฝ่ายค้าน คือพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล

พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคใหญ่ล่าสุด ที่เพิ่งไปบุกถ้ำเสือบุรีรัมย์เปิดเวทีใหญ่หาเสียง นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ และแกนนำพรรคคนอื่น ๆ ท่ามกลางกองเชียร์สีแดงเต็มพรึ่บทั้งที่ อ.ละหานทราย และ อ.สตึก

มีประกาศเชิญชวนคนบุรีรัมย์ หากอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ต้องเลือกพรรคเพื่อไทย และวิพากษ์โจมตีกล่องดวงใจพรรคภูมิใจไทยเจ้าถิ่น ไปที่เรื่องกัญชาเสรี ยืนยันหากได้เป็นรัฐบาลจะไม่มีกัญชากลางถนน ปรากฏให้เห็น

ก่อนหน้านั้น ต้นเดือนมี.ค.2566 ทัพใหญ่ของพรรคเพื่อไทย นำโดย “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ก็ขึ้นไปเหยียบถิ่นเสือแบบจัดหนักจัดเต็มมารอบหนึ่งแล้ว

ครั้งนั้น ตอกย้ำนโยบายไม่เอากัญชา เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ไม่เอา 3 ป. แต่ไม่ได้หมายถึงพี่น้อง 3 ป. แต่หมายถึงปราบยาเสพติดและไม่เอากัญชา การเปิดค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชาเพิ่มรายได้ให้คนในพื้นที่ และเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยเพื่อรักษา

วันนั้น 2 ขุนพลหน้าเดิมฝีปากเอก นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ประกาศทวงเก้าอี้ ส.ส.คืน ส่วนนายอดิศร เพียงเกษ แกนนำสำคัญในอดีตตั้งแต่สมัยไทยรักไทย ฮึกเหิมถึงขั้นประกาศไล่ตระกูลชิดชอบออกจากเขากระโดงเลยทีเดียว

ความจริงตระกูลชิดชอบ ตั้งแต่สมัยนายชัย ชิดชอบ เคยเป็นหนึ่งในพลพรรคและแกนนำพรรคไทยรักไทยของนายทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่เลือกตั้งปี 2548 ต่อมาหลังเลือกตั้งปี 2550 นายชัยได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรในโควต้าพรรคพลังประชาชน แทนนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตส.ส.หลายสมัยของ จ.เชียงราย และไม่เพียงนายชัยเท่านั้น ยังรวมถึงทายาทในตระกูล นำโดยนายเนวิน ชิดชอบ ครูใหญ่คนปัจจุบัน ของพรรคภมิใจไทยด้วย

เลือกตั้งปี 2554 พรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส.บุรีรัมย์ถึง 7 คนจาก 9 คน อีก 2 คนเป็นของพรรคเพื่อไทย จึงกลายเป็นเมืองหลวงของพรรคภูมิใจไทยมาแต่นั้น ก่อนที่เลือกตั้งปี 2562 จะเพิ่มศักยภาพ โดยการเหมา ส.ส.ยกจังหวัด 8 คน

อีกหนึ่งพรรคที่ท้าทายบ้านใหญ่บุรีรัมย์ สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ “พรรคก้าวไกล” ที่กำลังร้อนแรงทั้งในออนไลน์และสื่อหลัก โดยส่งทั้งนายรังสิมันต์ โรม และ ”ช่อ” น.ส.พรรณิการ์ วานิช ลงไปช่วยหาเสียงในพื้นที่ในห้วงเวลาไล่เลี่ยกัน

โดยนายรังสิมันต์ ไปช่วยหาเสียงที่บุรีรัมย์ เมื่อ 21 เม.ย.2566 และวันนั้น บุกไปจริงถึงเขากระโดง ที่ตั้งบ้านใหญ่ จ.บุรีรัมย์ พร้อมกับเปิดวิวาทะตอบโต้กับนายศูภชัย ใจสมุทร หนึ่งในแกนนำพรรคภูมิใจไทย ในเชิงรับคำท้าจะปักธง ส.ส.พรรคก้าวไกลที่ จ.บุรีรัมย์ให้ได้

ส่วน น.ส.พรรณิการ์ ไปขึ้นรถแห่และเดินตลาดถนนเซาะกราว หรือถนนคนเดินที่ขึ้นชื่อของบุรีรัมย์แบบสบายๆ ไม่มีแรงต้านใด ๆ มิหนำซ้ำ ยังมีแฟนคลับคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งเข้าไปทักทายถ่ายรูปคู่และเซลฟี่ด้วย สะท้อนในทีว่า พร้อมเปิดกว้างผู้สมัครจากพรรคอื่นเช่นกัน

สำหรับ จ.บุรีรัมย์ มีภาพจำและมีเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งยังเป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และลงพื้นที่ไปช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครส.ส.ของพรรคเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 ก่อนที่ในเวลาต่อมา จะเกิดปัญหาเรื่องวันเวลาการโอนหุ้นหุ้นสื่อ บริษัท วีลัค มีเดีย ของนายธนาธร ให้กับนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา ที่นายธนาธรอ้างว่าเป็นวันที่ 8 มกราคม 2562 เช่นกัน

จึงเกิดกระแสดราม่าและนำไปสู่การถกเถียงและข่าวคราวบนหน้าสื่อ ถึงความสมเหตุสมผลและความเป็นไปได้แค่ไหน ในเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 8 ม.ค. นายธนาธร ยังปราศรัยอยู่ที่บุรีรัมย์ แต่สามารถเดินทางกลับไปถึงด่านธัญบุรี เมื่อเวลา 14.57 นาที ที่ปรากฎในเอกสารการใช้บัตรอีซี่ พาส ที่นายธนาธรนำไปชี้แจงต่อสู้

คดีนี้จบลงเมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินชี้ขาด เมื่อ 20 พ.ย.2562 ให้นายธนาธรขาดจากการเป็น ส.ส. จากคดีถือหุ้นสื่อ และถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองถึง 20 ปี

ทำให้เป็นไปได้ว่า พรรคก้าวไกล อาจมีความทรงจำกับจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมมีความคับข้องใจอยู่กับพรรคภูมิใจไทยในระดับหนึ่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก่อนที่ในเวลาต่อมา พรรคร่วมฝ่ายค้านนำ โดย นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และส.ส.ฝ่ายค้านจำนวนหนึ่ง จะยื่นคำร้องผ่านประธานสภาผู้แทนฯ เพื่อต่อศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีคมนาคม ปมถือหุ้นบริษัทคู่สัญญาคมนาคมฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ

และในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้อง และสั่งให้นายศักดิ์สยาม หยุดปฏิบัติหน้าที่ รมว.คมนาคม ทันที ตั้งแต่ 3 มี.ค.2566 ที่ผ่านมา เป็นลักษณะ “แค้นฝังหุ่น” ที่อาจต้องสะสางบัญชีแค้นในการเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง