3 วิธีรับมือความเปลี่ยนแปลงในยุค AI ที่รัฐบาลสามารถช่วยประชาชนได้

Logo Thai PBS
3 วิธีรับมือความเปลี่ยนแปลงในยุค AI ที่รัฐบาลสามารถช่วยประชาชนได้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สำรวจความเป็นไปได้ที่รัฐบาลสามารถออกนโยบายต่าง ๆ มาเพื่อช่วยเหลือประชาชน ท่ามกลางยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มีการใช้งานเป็นวงกว้างอย่างแพร่หลาย

Sam Altman ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของศูนย์วิจัย OpenAI ผู้สร้าง ChatGPT เคยเขียนบทความไว้ว่า ภายในปี ค.ศ. 2026 นี้ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI นั้น จะสามารถทำงานเขียนโปรแกรม งานเอกสารทางกฎหมาย และให้คำปรึกษาทางการแพทย์ได้ ก่อนที่ช่วงประมาณ ค.ศ. 2031 AI จะมีศักยภาพเพียงที่จะเข้าไปควบคุมระบบสายพานการผลิตในโรงงาน หรือแม้แต่เป็นเพื่อนกับมนุษย์

ในขณะที่งานวิจัยจาก Goldman Sachs ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจ หรือสถาบันทางการเงินที่ระดมเงินทุนและซื้อขายหลักทรัพย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ได้เปิดเผยว่า AI จะเข้ามาแย่งงานที่มีอยู่เดิมมากกว่า 300 ล้านตำแหน่งทั่วสหรัฐอเมริกาและยุโรป ภายในระยะเวลา 10 ปีนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าใดนักที่ผู้คนทั่วโลกเริ่มแสดงความกังวลต่อ AI ออกมาอย่างเห็นได้ชัด ว่า AI นั้นอาจเป็นภัยต่อหน้าที่การงานและชีวิตความเป็นอยู่ในอนาคต

อย่างไรก็ดี ผู้คนส่วนใหญ่ต่างมองว่า รัฐบาลของแต่ละประเทศมีความสามารถที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือกับประชาชนได้ แทนที่ประชาชนจะต้องมารับความเสี่ยงในยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้เอง ซึ่งเริ่มมีนโยบายที่น่าสนใจเป็นที่พูดถึงในหลายประเทศทั่วโลก ดังนี้

1. รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า การแจกเงินแบบให้เปล่าแก่ประชาชนทุกคน

รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า UBI นั้น เป็นแนวคิดที่กล่าวถึง การที่รัฐบาลแจกจ่ายเงินให้กับประชาชนทุกคนและแต่ละเดือนโดยปราศจากเงื่อนไขใด ๆ เพื่อใช่จ่ายด้านที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น ซึ่งแตกต่างจากเงินสวัสดิการหรือบำนาญที่ต้องมีการยืนยันตัวตนให้เข้ากับเงื่อนไขนั้น ๆ

Sam Altman ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ OpenAI ที่ได้กล่าวถึงไปข้างต้นนั้น ก็ยังสนับสนุนแนวคิด UBI นี้อีกด้วย โดยเขาแสดงความคิดเห็นว่า ในเมื่อ AI จะเข้ามาดูแลเรื่องการผลิตสินค้าและการบริการขั้นพื้นฐานในอนาคตอันใกล้นี้อยู่แล้ว รัฐบาลจึงควรหันมาเก็บภาษีที่ดินและทุนจากกิจการต่าง ๆ ที่ดำเนินงานโดย AI แทนที่จะเป็นภาษีเงินได้จากแรงงานมนุษย์ แล้วค่อยนำภาษีส่วนนี้มาจ่ายเป็น UBI แทน ซึ่งจะทำให้ผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ความจริงแล้วแนวคิดเรื่อง UBI นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ และเคยมีการทดลองใช้มาแล้วในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1970 กับประเทศแคนาดา ซึ่งมีการแจกจ่ายเงินให้กับประชาชนในเมือง Dauphin เป็นระยะเวลาถึง 5 ปี โดยคิดเป็นเงินเฉลี่ยประมาณ 100,000 บาทต่อคนต่อปี ในยุคสมัยนั้น

ผลการทดลอง UBI ชี้ว่าประชาชนในเมือง Dauphin มีการเข้าไปรักษาพยาบาลน้อยลง ผู้คนเข้าไปเรียนหนังสือและได้รับการศึกษามากขึ้น ในขณะที่ผู้คนยังขยันทำงานเหมือนเดิม ลางานน้อยลง ไม่ได้ขี้เกียจมากขึ้นแต่อย่างใด แถมยังทำให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย UBI จึงอาจเป็นหนทางหนึ่งที่น่าสนใจที่สามารถช่วยเยียวยาความเป็นอยู่ของผู้คนในยุค AI ได้

2. โครงการพัฒนาทักษะวิชาชีพ ส่งเสริมให้คนเข้าไปสู่สายงานใหม่ ๆ

มีนักวิชาการหลายคนคิดว่าการเข้ามาของ AI นั้นจะไม่ได้ทำให้งานของมนุษย์หายไปสักทีเดียว แต่จะมีงานใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับเทคโนโลยี AI ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคล้ายกับกรณีของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่มีอาชีพวิศวกรควบคุมเครื่องจักรเข้ามาแทนการผลิตสินค้าแบบดั้งเดิม

เพราะฉะนั้นการเตรียมตัวให้ประชาชนมีความพร้อมในการเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่สายอาชีพใหม่นั้น จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ล่าสุดคณะกรรมาธิการยุโรปที่เป็นฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรปนั้น ก็ได้เปิดตัวโครงการ "ปีแห่งทักษะยุโรป" (European Year of Skills) ประจำ ค.ศ. 2023 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

โดยปีแห่งทักษะยุโรปนั้น เป็นโครงการพัฒนาทักษะวิชาชีพที่เน้นไปในด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเป็นหลัก ผ่านเงินทุนสนับสนุน และ งานสัมมนาต่าง ๆ ที่จัดขึ้นทั่วประเทศสมาชิก ซึ่งอุตสาหกรรมกลุ่มนี้กำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทขนาดเล็กถึงกลาง (SMEs)

ทางสหภาพยุโรปเชื่อว่าโครงการนี้จะทำให้ประชากรมากกว่า 80% มีทักษะทางด้านดิจิทัลขั้นพื้นฐาน จากเดิมที่มีเพียงแค่ 40% ก่อนปี 2030 ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีของทางรัฐบาลที่ได้เข้ามาช่วยเข้ามาช่วยเหลือให้ผู้คนทยอยย้ายจากการเดิมไปสู่งานใหม่จากการเข้ามาของ AI ได้ในอนาคตอันใกล้นี้

3. นโยบายควบคุม AI และการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

นอกจากการเข้ามาของ AI ยังทำให้เกิดปัญหาเรื่องการแย่งงานแล้ว AI ก็ยังนำปัญหาทางด้านจริยธรรมและศีลธรรมเข้ามาด้วย ยกตัวอย่างเช่น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าระบบของ AI นั้นมีความยุติธรรม ไม่แบ่งแยกคนบางกลุ่มออกไป หาก AI ต้องมาทำงานร่วมกับมนุษย์ หรือแม้แต่เรื่องข้อมูลส่วนบุคคลที่ AI อาจขโมยเอาไปเผยแพร่ให้บุคคลที่สามได้ รัฐจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องเข้ามาจัดการในส่วน ๆ นี้ มิฉะนั้น AI อาจก่อให้เกิดโทษมากกว่าผลดี

ในกรณีนี้เราต้องหันกลับมาดูที่สหภาพยุโรปอีกครั้ง เนื่องจากทางคณะกรรมการร่างกฎหมายของสหภาพฯ ได้ตกลงร่วมกันว่าจะออกกฎหมายควบคุม AI ขึ้นมาบังคับใช้ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 2023 ซึ่งจะทำให้ประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปกลายเป็นประเทศกลุ่มแรกที่จะมีกฎหมายควบคุม AI อย่างเป็นทางการครั้งแรกของโลก โดยจะเน้นไปที่การควบคุมข้อมูลเรื่องการจดจำใบหน้า (Facial Recognition) และลายนิ้วมือ เพื่อปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ในขณะที่ส่งเสริมการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วย

Dragos Tudorache หนึ่งในสมาชิกรัฐสภายุโรป กล่าวว่า ข้อตกลงนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ระหว่างบริษัทผู้ผลิต AI กับประชาชน แต่เขาก็หวังว่ากฎหมายใหม่นี้จะให้ทางออกแก่ทุกคนได้ดี

ชมรายการ
คิดยกกำลัง 2 : เมื่อเอไอถูกจับ...มาปรับทัศนคติ
คิดยกกำลัง 2 : หากเอไอ ถูกใช้เป็นอาวุธ

ที่มาข้อมูล: The Walrus , Forbes , Reuters
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง