นักวิจัย MIT พัฒนาแผ่นแปะคลื่นอัลตราโซนิก ส่งตัวยาเข้าสู่ร่างกายผ่านผิวหนัง

Logo Thai PBS
นักวิจัย MIT พัฒนาแผ่นแปะคลื่นอัลตราโซนิก ส่งตัวยาเข้าสู่ร่างกายผ่านผิวหนัง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทีมนักวิจัยจากสถาบัน MIT ได้คิดค้นการใช้แผ่นแปะคลื่นอัลตราโซนิก เพื่อช่วยในการส่งตัวยารักษาเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านทางผิวหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เป็นอีกครั้งสำหรับการพัฒนาแผ่นแปะผิวหนังเพื่อใช้รักษาอาการเจ็บป่วยทางการแพทย์ โดยครั้งนี้นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT (Massachusetts Institute of Technology) ได้พัฒนาแผ่นแปะแบบใหม่ที่สามารถส่งตัวยาผ่านผิวหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวด

โดยแผ่นแปะดังกล่าวจะใช้คลื่นอัลตราโซนิกแทนการใช้เข็มขนาดเล็ก แต่ใช้หลักการทำงานที่มีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งการส่งตัวยาด้วยวิธีนี้จะทำให้การส่งยาเข้าสู่ผิวหนังมีความสะดวกสบาย และสามารถควบคุมปริมาณการใช้ยาได้ง่ายขึ้น

แผ่นแปะคลื่นอัลตราโซนิกทำขึ้นโดยใช้โพลิเมอร์ ซึ่งเป็นซิลิโคนใสที่มีลักษณะกลมและแบน มีคุณสมบัติในการเกาะติดกับผิวหนังได้อย่างดีโดยไม่ต้องพึ่งเทปกาว ซึ่งโพลิเมอร์นี้เป็นวัสดุที่นิยมนำไปใช้ในการทำเครื่องสำอางและสารหล่อลื่น ทำให้มั่นใจได้ว่าสามารถใช้กับร่างกายได้อย่างปลอดภัย

ภายในแผ่นแปะจะมี Transducer หรือ อุปกรณ์เปลี่ยนแปลงรูปแบบพลังงาน จำนวน 4 ตัวที่เชื่อมต่อกันด้วยทองแดงเพื่อนำไฟฟ้า อุปกรณ์แต่ละตัวจะเป็นช่องที่มีโมเลกุลของยาที่ละลายในของเหลว และเมื่ออุปกรณ์ได้รับพลังงาน แล้วจะเกิดการสั่นสะเทือนและสร้างฟองในของเหลว ซึ่งจะสร้างไมโครเจ็ตของของเหลวที่สามารถยิงผ่านผิวหนังชั้นนอกที่มีความแข็งได้

ในการทดลองนักวิจัยได้ทดสอบการทำงานของแผ่นแปะกับผิวหนังหนังของหมู โดยใช้ไนอะซินาไมด์ ซึ่งเป็นวิตามินบีชนิดหนึ่งที่มักใช้ในสกินแคร์เพื่อลดจุดด่างดำต่าง ๆ พบว่าภายในระยะเวลาประมาณ 30 นาที แผ่นแปะดังกล่าวสามารถนำส่งตัวอย่างเข้าสู่ผิวหนังของหมูได้ในปริมาณเทียบเท่ากับการใช้แผ่นแปะแบบเข็มขนาดเล็กเป็นเวลา 6 ชั่วโมง หรือสามารถส่งตัวยาได้มากกว่า 26 เท่า หากเทียบกับแผ่นแปะแบบเดิม

ทั้งนี้ แผ่นแปะคลื่นโซนิกยังคงต้องมีการพัฒนาต่อไป เนื่องจากผลิตภัณฑ์ตัวต้นแบบยังนำส่งตัวยาเข้าสู่ผิวหนังได้เพียงไม่กี่มิลลิเมตรเท่านั้น ซึ่งทีมวิจัยกำลังพัฒนาเพื่อเพิ่มความลึกของการเจาะ และยังตั้งเป้าในการทดสอบการทำงานแผ่นแปะกับตัวยาอื่น ๆ เช่น ยาแก้ปวด และฮอร์โมนบางชนิด รวมถึงการพัฒนาเพื่อทดสอบแผ่นแปะกับมนุษย์ได้ในอนาคต

ที่มาข้อมูล: MIT, scitechdaily, newatlas, interestingengineering
ที่มาภาพ: MIT
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง