ค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ LP 791-18d มีขนาดเท่าโลก เต็มไปด้วยภูเขาไฟปะทุ

Logo Thai PBS
ค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ LP 791-18d มีขนาดเท่าโลก เต็มไปด้วยภูเขาไฟปะทุ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ มีขนาดเท่าโลก ชื่อ "LP 791-18d" อยู่ห่างออกไปประมาณ 90 ปีแสง เต็มไปด้วยภูเขาไฟที่ปะทุอย่างต่อเนื่อง มีภูมิอากาศที่อบอุ่นและอาจเอื้อต่อการอยู่อาศัย

มีการค้นพบใหม่ที่น่าตื่นเต้น เมื่อนักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะขนาดเท่าโลก อยู่ห่างออกไปราว 90 ปีแสง ซึ่งถูกปกคลุมด้วยภูเขาไฟ ดาวเคราะห์ดังกล่าวมีชื่อว่า "LP 791-18d" ซึ่งโคจรรอบ "ดาวแคระแดง" ขนาดเล็ก และมีการปะทุของภูเขาไฟในความถี่เกือบจะเทียบเท่าดวงจันทร์ Io (ไอโอ) บริวารของดาวพฤหัสบดี ซึ่งเป็นดาวที่มีภูเขาไฟปะทุมากที่สุดในระบบสุริยะของเรา

ดาวเคราะห์ดวงนี้ ถูกค้นพบโดยใช้ข้อมูลจาก "ดาวเทียมเทสส์" (TESS) ที่ใช้สำรวจดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ และกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer Space Telescope) ที่ปลดระวางไปแล้วขององค์การนาซา (NASA) และถึงแม้ว่าดาว "LP 791-18d" จะมีขนาดใกล้เคียงกับโลกซึ่งอาจจะใหญ่กว่าเล็กน้อยและมีมวลมากกว่า

แต่ทว่ากลับแตกต่างกับโลกของเราอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นดาวที่หันฝั่งเดียวตลอด ไม่มีการหมุนรอบตัวเอง ส่งผลให้ครึ่งหนึ่งของดาวเคราะห์ดวงนี้มีช่วงเวลากลางวันแบบถาวร และอีกครึ่งหนึ่งอยู่ในช่วงกลางคืนแบบถาวร นักดาราศาสตร์จึงสันนิษฐานว่าด้านที่สว่างตลอด น่าจะทำให้ของเหลวที่อยู่บนพื้นผิวดาวเคราะห์ร้อนจัด ส่วนอุณหภูมิในฝั่งกลางคืนของดาวเคราะห์อาจลดต่ำลงจนมากพอที่น้ำจะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำบนพื้นผิว

จากการสำรวจผ่านดาวเทียม นักดาราศาสตร์คาดว่าอุณหภูมิของดาวเคราะห์ "LP 791-18d" น่าจะอุ่นกว่าโลกเล็กน้อย เพราะตำแหน่งของดาวเคราะห์อยู่บนขอบด้านในของเขตที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยรอบดาวฤกษ์ จึงไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป และการที่ดาวเคราะห์มีภูเขาไฟปะทุบนพื้นผิวอาจจะทำให้ชั้นบรรยากาศเต็มไปด้วยก๊าซหรือแม้แต่น้ำซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะมีคำถามว่าสภาพแวดล้อมของดาวเคราะห์ "LP 791-18d" เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหรือไม่? ทั้งนี้นักดาราศาสตร์ยังคงต้องใช้ระยะเวลาสังเกตการณ์และสำรวจดาวเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจต่อไป

ที่มาข้อมูล: NASA, newatlas, scitechdaily
ที่มาภาพ: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง