บทวิเคราะห์ : ตั้งไข่รัฐบาล "พรรคก้าวไกล" ศึกในศึกนอกหินพอกัน

การเมือง
27 พ.ค. 66
09:10
1,355
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : ตั้งไข่รัฐบาล "พรรคก้าวไกล" ศึกในศึกนอกหินพอกัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แม้การปะทะกันของ 2 เบอร์ใหญ่ ที่เคยอยู่พรรคเดียวกัน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กับ “ผู้พันปุ่น” น.ต.ศิธา ทิวารี แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคไทยสร้างไทย จะจบลงด้วยคำขอโทษของผู้พันปุ่น พร้อมจะลาออก หากทำให้การตั้งรัฐบาล 8 พรรคเดินหน้าต่อได้ยาก

แต่ยังมีอาการเคืองให้เห็นชัดเจนจาก นพ.ชลน่าน ที่ปกติไม่ค่อยแสดงออกมาให้เห็นนัก แต่ครั้งนี้ถึงขั้นโพล่งคำว่า “ชกได้ชกไปแล้ว” สะท้อนอาการฉุนจัดแค่ไหน

หมอชลน่าน คือหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ส่วนน.ต.ศิธา ก็เป็นอดีตเด็กสร้างของพรรคไทยรักไทย ตั้งแต่สมัยนายทักษิณ ชินวัตร เคยเป็น ส.ส.ตั้งแต่ปี 2544 เป็นโฆษกของรัฐบาลนายทักษิณ เป็นอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง

จึงถือว่าเก๋าพอๆ กับหมอชลน่าน ที่เป็น ส.ส.ครั้งแรกปี 2544 เช่นกัน ก่อนจะย้ายตาม “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ไปพรรคไทยสร้างไทย กลายเป็นอีกหนึ่งคู่แข่งในสนามเลือกตั้งปี 2566

นำไปสู่วลี “ไม่มีพรรคพี่พรรคน้อง” จากแกนนำพรรคเพื่อไทย เมื่อขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียง มีนัยชัดเจนว่า หมายถึงพรรคไทยสร้างไทย เพราะคุณหญิงสุดารัตน์ มักออดอ้อนขอคะแนนเวลาลงพื้นที่หาเสียง ในทำนองเป็นพรรคพันธมิตรกัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นความไม่พอใจกันตั้งแต่แรกเป็นทุนอยู่แล้ว

แม้ภายนอกจะดูจบ แต่คนที่คว่ำหวอดทางการเมืองกลับมองต่างออกไป เพราะที่มาของรอยร้าวเกิดขึ้น เมื่อผู้พันปุ่นต้องการคำยืนยันจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทยว่า จะยังยืนหยัดเป็นพันธมิตร 8 พรรค แม้ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ต้องไปเป็นฝ่ายค้านหรือไม่

ด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่มั่นใจว่า พรรคเพื่อไทยจะเอาอย่างไรกันแน่ เนื่องจาก มีทางเลือกมากกว่าพรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคอันดับ 2 ที่มีความชอบธรรม สามารถรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้ หากพรรคอันดับ 1 พรรคก้าวไกลทำไม่สำเร็จ

ขณะที่หมอชลน่าน ตอกย้ำแบบประชดประชันว่า เป็นการตอบครั้งที่ 501 แล้ว ยืนยันไม่มีดีลลับกับพรรคพลังประชารัฐ จัดตั้งรัฐบาลแข่ง และย้ำว่า อยู่ในสถานภาพเป็นพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค และต้องการสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ

คำเฉลยปมที่มาของเรื่องนี้ คือความระแวง ไม่ไว้วางใจพรรคเพื่อไทย และอีกประการคือ ไม่เชื่อมั่นว่าหมอชลน่าน มีอำนาจเต็มในฐานะหัวหน้าพรรคหรือไม่ ประกอบกับสภาพการเมืองปัจจุบัน ยังไม่มีอะไรแน่นอน อาจเกิดอะไรขึ้นได้ทุกเมื่อ

กูรูทางการเมือง จึงจับจ้องไปที่พรรคเพื่อไทยเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะขยับตัวอะไร แม้แต่เรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร อย่างกรณี นายอดิศร เพียงเกษ อดีตรัฐมนตรีช่วยฯ 4 กระทรวง ที่ออกโรงฟาดใส่พรรคก้าวไกล อย่าคิดกินรวบทั้งตำแหน่งนายกฯ และตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ทั้งที่ได้ ส.สเพียง 152 คน ไม่ถึงครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำ

เป็นท่าทีที่เกิดขึ้นหลังจากนายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์เฟซบุ๊ก ส่งสัญญาณว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ ควรต้องเป็นของพรรคก้าวไกลเท่านั้น จะถอยอีกไม่ได้ ก่อนจะมีเสียงขานรับอย่างแข็งขันจากนายรังสิมันต์ โรม หนึ่งในแกนนำพรรคก้าวไกล ตอกย้ำความสำคัญของเก้าอี้ตัวนี้

เชื่อกันว่า สามารถที่พรรคก้าวไกลไม่ยอมคายเก้าอี้ประธานสภาฯ ทิ้งไป เพราะตำแหน่งนี้ จะการันตีได้ว่า นายกฯเป็นนายพิธาแน่ ๆ และอีกเหตุผลหนึ่ง คือไม่ไว้ใจพรรคเพื่อไทยนั่นเอง

ส่งผลให้การเดินหน้าตั้งไข่ฟอร์มรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ยังสะดุดอยู่กับที่ ยังไม่อาจก้าวข้ามพ้นไปได้ ขณะที่มรสุมลูกใหม่ ทั้งเรื่องแบ่งเค้กจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีและกระทรวงแต่ละพรรคดูแล ยังรอคอยอยู่เบื้องหน้า ยังไม่นับเรื่องเสียงหนุนจาก ส.ว. ที่ยังไร้เสียงตอบรับจากส.ว.ส่วนใหญ่อยู่เช่นเดิม

แถมมีสัญญาณแปร่งๆ จากการรีทวีตของนายดวงฤทธิ์ บุนนาค นักออกแบบชื่อดัง ของคนแดนไกล เรื่องโดนเพื่อนถีบหน้า แทงข้างหลังตลอด แต่ก็ยังต้องช่วยเพื่อนเพราะลำพังตัวเองไปได้ไม่รอด ไม่รู้แฝงความหมายอะไรอีกหนึ่งชั้น

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง