วิเคราะห์ : สร้างมิติใหม่ “พิธา-ชัชชาติ” จับมือรวมวาระเดินหน้าคู่

การเมือง
30 พ.ค. 66
14:41
532
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ : สร้างมิติใหม่ “พิธา-ชัชชาติ” จับมือรวมวาระเดินหน้าคู่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เป็นอีกจุดเริ่มต้นสำคัญของการเมืองมิติใหม่ เมื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคก้าวไกล พูดคุยกับนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร เรื่องการทำงานร่วมกัน ระหว่างผู้นำรัฐบาลส่วนกลาง กับผู้บริหารท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร

เริ่มจากการรวมวาระที่เหมือนกันเข้าด้วยกัน หารือแบบบูรณาการร่วมกัน และลงมือปฏิบัติจริงร่วมกัน อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ในอดีต การประชุมครม.ก็ว่ากันไป การประชุมผู้บริหารและสภากทม.ก็ว่ากันไป ตามคนต่างทำ ต่างขับเคลื่อนงานของตนเอง ประกอบกับที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ มักเลือกผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ และส.ก.ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลส่วนกลาง เพื่อคานอำนาจและหวังให้มีการตรวจสอบอยู่ในที

แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดมรรคผลมากนัก คนกรุงเทพฯ ยังเห็นการทำถนนแล้วเสร็จ แต่อีกไม่นานถัดมา กลับมีการขุดเจาะถนนวางท่อระบายน้ำ ตามด้วยซ่อมแซติดตั้งท่อประปาสายไฟฟ้า ท่ามกลางความงุนงงของคนกรุง ว่าเหตุใด จึงไม่ประสานร่วมมือกัน

นายชัชชาติ คือผู้ว่าฯ ที่คนกรุงเทพฯ เทคะแนนให้แบบแลนด์สไลด์ จุดพลุเริ่มต้นคนกรุงเทพฯ และคนรุ่นใหม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง และ 1 ปีถัดมา การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งใหญ่ คนส่วนใหญ่ทั้งใหม่และเก่า เทคะแนนให้พรรคก้าวไกลชนะแบบแลนด์สไลด์อีกครั้ง

ตอกย้ำการส่งสัญญาณต้องการการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญ มติประชาชนทั้ง 2 ครั้ง คือไม่เอา 3 ป. ต้องการส่งกลุ่มอำนาจเก่ากลับบ้าน ให้ทหารกลับเข้ากรมกอง

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าฯ กทม. ร่วมกิจกรรม บางกอกไพรด์2023 ที่สกายวอล์ค หน้าหอศิลป์ กทม. วันที่ 30 พ.ค.2566

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าฯ กทม. ร่วมกิจกรรม บางกอกไพรด์2023 ที่สกายวอล์ค หน้าหอศิลป์ กทม. วันที่ 30 พ.ค.2566

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าฯ กทม. ร่วมกิจกรรม บางกอกไพรด์2023 ที่สกายวอล์ค หน้าหอศิลป์ กทม. วันที่ 30 พ.ค.2566

ทั้ง 2 คนยังมีความเหมือน ซึ่งแตกต่างจากนักการเมืองหรือผู้บริหารในอดีตคือ กระตือรือร้นพร้อมทำงานทันทีแม้ กกต.ยังไม่มีมติรับรองก็ตาม และไม่ต้องเสียเวลาศึกษาหรือดูงาน

การรวมวาระเพื่อทำงานด้วยกัน จะนำไปสู่ภาพการประชุมร่วมกันระหว่าง ส.ส.กรุงเทพฯ กับส.ก.กรุงเทพฯ หรือระหว่างรัฐบาลกับผู้ว่าฯ และทีมบริหารกทม.

การขับเคลื่อนแบบนี้ จะตัดปัญหาการทำงานซ้ำซ้อน เป็นการตรวจสอบความไม่โปร่งใสซึ่งกันและกันได้ ลดการผูกขาด ไม่ใช่วนเวียนซ้ำซากอยู่กับผู้รับเหมาไม่กี่ราย แต่ไม่เคยได้งานในเชิงบวก ลดสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ ตัดช่องทางแสวงหารายได้ของกลุ่มบุคคลที่ไม่ควรจะได้

ที่สำคัญวิธีการนี้ จะลดข้ออ้างที่ทั้งนักการเมืองและกลุ่มธุรกิจ ที่เข้าไปทำมาหากินกับโครงการของรัฐบาล ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นให้เงียบลง

ฟังจากนายพิธา เรื่องที่มีวาระตรงกัน เช่น เรื่องจัดเก็บภาษีที่ดิน ที่นายชัชชาติเพิ่งเอ่ยปากฝากฝังรัฐบาลใหม่ คือการจัดเก็บภาษีโรงเรือนแบบเดิม ที่คิดจากรายได้ 12.5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นรายได้ของเขต เปลี่ยนเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่คิดตามมูลค่าที่ดิน

ด้วยเหตุผลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน แต่สิ่งที่นายชัชชาติกล่าวถึงกลับตรงกันข้าม ผู้มีรายได้มากไม่ได้เสียภาษีมากขึ้น มียกตัวอย่างห้างสรรพสินค้าใหญ่ใจกลางกรุงในเขตพญาไท เดิมเสียภาษีปีละ 10 ล้านบาท แต่ระบบใหม่ จ่ายแค่ปีละ 1 ล้านบาท ลดลง 10 เท่า

อาคารสำนักงานใหญ่แห่งหนึ่ง เดิมเสียภาษีมากกว่า 11 ล้านบาท เพราะคำนวณจากค่าเช่าภายในสำนักงาน แต่เมื่อคิดภาษีรูปแบบใหม่ เหลือเพียง 3 ล้านบาท เท่ากับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เจ้าสัว และคนรวยชนิดเถียงไม่ได้

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าฯ กทม. ร่วมกิจกรรม บางกอกไพรด์2023 ที่สกายวอล์ค หน้าหอศิลป์ กทม. วันที่ 30 พ.ค.2566

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าฯ กทม. ร่วมกิจกรรม บางกอกไพรด์2023 ที่สกายวอล์ค หน้าหอศิลป์ กทม. วันที่ 30 พ.ค.2566

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าฯ กทม. ร่วมกิจกรรม บางกอกไพรด์2023 ที่สกายวอล์ค หน้าหอศิลป์ กทม. วันที่ 30 พ.ค.2566

นายพิธาบอกว่า เรื่องภาษีที่ดิน ทางพรรคก้าวไกลก็มีนโยบายเรื่องนี้อยู่แล้ว พร้อมจะนำมารวมเป็นวาระเดียวกันได้ อีกเรื่องหนึ่งซึ่งทั้งรัฐบาลส่วนกลางและผู้บริหาร กทม.ต่างก็มีนโยบายอยู่แล้ว และเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำกันอย่างจริง ๆ จัง ๆ ไม่ใช่ผลาญงบรายปีแบบละลายแม่น้ำ คือเรื่องน้ำท่วม

ในแต่ละปีมีงบเรื่องนี้มหาศาล ปี 2565 กทม.มีงบประมาณแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเกือบ 4 พันล้านบาท ขณะที่งบประมาณแผนป้องกันน้ำท่วมน้ำแล้งปี 2565 ของรัฐบาล มีมากกว่า 3.6 แสนล้านบาท ยังไม่นับเรื่องงบประมาณสำหรับฟื้นฟู เยียวยา และช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย อีกกว่า 1.39 แสนล้านบาท

จึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในมติใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ส่งผลให้โฉมหน้าการเมืองไทยต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ยิ่งเมื่อไปรวมกับนโยบายที่พรรคก้าวไกลและผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้ประกาศไว้ เรื่องแกปัญหาโดยใช้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เรื่องปฏิรูประบบราชการและกองทัพ เรื่องรื้องบประมาณ ปี 2567ใหม่ รวมทั้งการรื้อโครงสร้างและราคาคาไฟฟ้าใหม่ หากทำได้สำเร็จจะเป็นการเมืองและสังคมใหม่ในฝัน

แต่ความเป็นจริงขณะนี้ นายชัชชาติได้เป็นผู้ว่าฯ และได้ทำงานขับเคลื่อนนโยบายเกือบปีแล้ว แต่สำหรับนายพิธายังเพิ่งกำลังเริ่มต้น มีด่านหินที่ต้องฝ่าฟันรออยู่ข้างหน้ามากมาย

ความเป็นจริงในทางปฏิบัติ จึงยากเย็นแสนเข็นกว่าที่ควรจะเป็น

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง