"ยูเนสโก" ขึ้นทะเบียน 5 จังหวัด เมืองสร้างสรรค์ ด้านอาหาร- หัตถกรรมพื้นบ้าน - การออกแบบ

สังคม
4 มิ.ย. 66
12:53
2,912
Logo Thai PBS
"ยูเนสโก" ขึ้นทะเบียน 5 จังหวัด เมืองสร้างสรรค์ ด้านอาหาร- หัตถกรรมพื้นบ้าน - การออกแบบ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นายกฯ ยินดี "ยูเนสโก" ขึ้นทะเบียน 5 จังหวัดของไทย "เพชรบุรี - สุโขทัย - กรุงเทพฯ - ภูเก็ต - เชียงใหม่" เป็นเมืองสร้างสรรค์ ด้านอาหาร หัตถกรรมพื้นบ้าน และการออกแบบ สะท้อนเอกลักษณ์ที่มีศักยภาพของแต่ละภูมิภาคในประเทศไทย

วันนี้ 4 มิ.ย. 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยินดีที่ 5 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ กรุงเทพฯ สุโขทัย และเพชรบุรี ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ ด้านอาหาร หัตถกรรมพื้นบ้าน และการออกแบบจากเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN) สะท้อนการทำงานของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ต่อยอดมาจากการขึ้นทะเบียนมรดกโลกขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) หรือ ยูเนสโก โดยเป็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ผ่านนโยบายระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับนานาชาติที่เชื่อมโยงกับเมืองต่าง ๆ กว่า 300 เมืองทั่วโลก เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

ขณะที่เมืองสมาชิกจะต้องตรวจสอบความก้าวหน้าและจัดทำรายงานผลการดำเนินงานตามเกณฑ์ของโครงการทุก 4 ปี โดยแบ่งออกเป็น 7 สาขา ได้แก่ หัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts & Folk Art) การออกแบบ (Design) ภาพยนตร์ (Film) อาหาร (Gastronomy) วรรณกรรม (Literature) สื่อศิลปะ (Media Arts) และดนตรี (Music) ซึ่งปัจจุบันยูเนสโกขึ้นทะเบียน 5 จังหวัดของไทย เป็นเมืองสร้างสรรค์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • จ.ภูเก็ต ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร เมื่อปี 2558 โดยภูเก็ตมีวัฒนธรรมการทำอาหารแบบดั้งเดิมและเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ส่งผ่านระหว่างรุ่น สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจท้องถิ่นจากอาหารได้กว่า 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี
  • จ.เชียงใหม่ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เมื่อปี 2560 โดยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เชียงใหม่ยังคงสืบสานและสนับสนุนอุตสาหกรรมงานฝีมือ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดมายาวนาน ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเงิน ไม้แกะสลัก การปักไหม และเครื่องเขิน โดยปัจจุบันเชียงใหม่เป็นแหล่งจ้างงานหลักของอุตสาหกรรมงานฝีมือของผู้ประกอบการถึง 159 แห่ง
  • กรุงเทพมหานคร ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ เมื่อปี 2562 โดยกรุงเทพฯ มีความหลากหลายของประชากร มีการผสมผสานระหว่างสุนทรียภาพแบบดั้งเดิมและแบบใหม่ ทำให้เกิดวิวัฒนาการการออกแบบของเมือง ผ่านช่างฝีมือ ผู้ประกอบการ และชุมชนการผลิตเชิงสร้างสรรค์มีอยู่ทั่วเมือง
  • จ.สุโขทัย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เมื่อปี 2562 โดยสุโขทัยมีมรดกทางศิลปะและหัตถกรรมดั้งเดิมอันยาวนาน และเป็นศูนย์กลางการผลิตช่างฝีมือซึ่งมีกว่า 1,300 คน ที่ทำงานในชุมชน เช่น ผ้าทอ เครื่องประดับทองและเงิน เซรามิก และเครื่องสังคโลก โดยงานฝีมือดังกล่าวสะท้อนถึงภูมิปัญญาโบราณ และการยกระดับเศรษฐกิจของสุโขทัย
  • จ.เพชรบุรี ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร เมื่อปี 2564 โดยเพชรบุรีมีความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ และระบบนิเวศ ขึ้นชื่อเรื่องวัตถุดิบคุณภาพสูง มีสูตรอาหารดั้งเดิมของชุมชน และการผสมผสานประเพณีเข้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ ทำให้อาหารท้องถิ่นได้รับการดัดแปลงให้แพร่หลายมากขึ้นในระดับชาติและระดับโลก

นายกฯ ยินดีกับผลการขึ้นทะเบียนดังกล่าว ซึ่งสะท้อนเอกลักษณ์ที่มีศักยภาพของแต่ละภูมิภาคในประเทศไทย และถือเป็นอีกความสำเร็จจากความร่วมมือตั้งแต่ระดับชุมชน ไปจนถึงภาครัฐ และภาคเอกชน ที่ต่างมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ สืบสาน พัฒนาภูมิปัญญา และวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับจังหวัดหรือเมืองอื่น ๆ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง