"ข้าวไทย" ค้างโกดัง 10 ปี ส่งออกความกังวลสู่ "ไนจีเรีย"

เศรษฐกิจ
26 พ.ค. 67
16:21
1,046
Logo Thai PBS
"ข้าวไทย" ค้างโกดัง 10 ปี ส่งออกความกังวลสู่ "ไนจีเรีย"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นับตั้งแต่การประกาศของไทยที่เตรียมเปิดประมูลข้าวเก่า 10 ปี เพื่อเตรียมส่งออกไปยังประเทศในทวีปแอฟริกา สร้างความกังวลให้ทูตชาวแอฟริกัน และชาวไนจีเรียจำนวนมาก เพราะพวกเรากิน "ข้าวจากไทย" เป็นอาหารหลักซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของตลาดข้าวไทย

นับตั้งแต่การประกาศของทางการไทยที่เตรียมเปิดประมูลข้าวเก่า 10 ปี เพื่อเตรียมส่งออกไปยังประเทศในทวีปแอฟริกา ไม่ใช่เฉพาะกระแสเชิงลบในประเทศไทยเท่านั้น แต่ชาวไนจีเรียจำนวนมากก็ได้โพสต์แสดงความกังวลผ่านสื่อสังคมออนไลน์เช่นกัน โดยระบุถึงผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการบริโภคข้าวเก่า 10 ปี หากข้าวไทยสามารถเข้ามาสู่ทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะประเทศไนจีเรียได้ 

ผู้ใช้ X ชื่อบัญชี @NwaOnyekuzi ทวีตว่าเขาไม่แน่ใจว่า ข้าวที่อายุ 10 ปีจะยังมีสารอาหารหลงเหลือหรือไม่ ขณะที่ผู้ใช้บัญชีชื่อ @Kdenkss โพสต์ว่า มันเป็นเรื่องที่น่าอาย แต่ฉันมั่นใจว่าข้าวไทยบางส่วนต้องเข้ามาสู่ไนจีเรียแน่นอน 

ด้านผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยด้านอาหาร James Marsh ระบุว่า เมื่อเทียบกับมาตรฐานระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร (HACCP) ซึ่งเป็นระบบการจัดการเพื่อความปลอดภัยของอาหาร ข้าวอายุ 10 ปีจะไม่มีสารอาหาร เนื่องจากส่วนใหญ่จะสลายออกไปหมดแล้ว

ปัจจุบันยังไม่พบงานวิจัยว่ามีข้าวที่เก็บไว้นาน 10 ปี แล้วยังมีสารอาหารคงเหลืออยู่ การเก็บธัญพืชที่ดีไม่ควรเกิน 5 ปี

แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ข้าวอายุ 10 ปีจะหาทางเข้าสู่ไนจีเรียได้ Marsh เน้นย้ำ และยังส่งเสียงไปถึงรัฐบาลไนจีเรีย ต้องดำเนินการในตอนนี้โดยให้คำมั่นต่อคนในประเทศว่าข้าวจากไทยจะไม่เข้าสู่ประเทศเมื่อมีการประมูลเกิดขึ้น 

Shittu Akinyemi ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การอาหารจาก Federal University of Agriculture กล่าวว่าความปลอดภัยของอาหารขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยได้แก่ วิธีการจัดเก็บอาหาร และ ชนิดของสารเคมีที่ใช้เพื่อการเก็บรักษา Akinyemi เปรียบเทียบว่า ธัญพืชสามารถเก็บไว้ได้นานเหมือนกับมนุษย์ที่อายุยืน แต่พวกเขาจะเป็นแค่คนชรา ไม่ได้เป็นคนวิเศษอะไร ข้าวก็เช่นกัน 

"ไนจีเรีย" รั้งท้ายนำเข้า-อันดับ 1 กินข้าว

"ไนจีเรีย" เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในแอฟริกา แม้ไม่ติดอยู่ในรายชื่อ 10 อันดับแรกผู้นำเข้าข้าวจากประเทศไทย เพราะนโยบายของธนาคารกลางไนจีเรียที่จำกัดการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสำหรับผู้นำเข้าข้าว พูดง่าย ๆ คือ ไนจีเรียจะรับซื้อสินค้าจากต่างประเทศในสกุลเงิน "ไนรา" เท่านั้น และไม่รับแลกเปลี่ยนเงินไนราเป็นสกุลอื่น ๆ ด้วย และการเก็บภาษีนำเข้าข้าวที่สูงถึงร้อยละ 70 เพื่อต้องการกระตุ้นการผลิตในประเทศ 

แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ รวมถึงพันธุ์ข้าวที่ปลูกได้ในพื้นที่ ก็ไม่ได้เอื้อให้ไนจีเรียสามารถผลิตข้าวได้มากพอต่อความต้องการของคนในประเทศเลย การนำเข้าข้าวส่วนใหญ่ของไนจีเรียจึงต้องเป็น "การนำเข้าเพื่อส่งออกต่อ (Re-export)" โดยผ่านประเทศเบนินและโตโก ที่มีมาตรการเรื่องนำเข้าข้าวผ่อนคลายกว่าประเทศอื่น ๆ ในทวีปแอฟริกา

"เบนิน" อันดับ 1 นำเข้าข้าวไทย

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ประเทศไทย อธิบายสถานการณ์ข้าวไทยในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกในปี 2562 ไว้ว่า เป็นที่รู้กันว่าประเทศไทยมีกำลังการผลิตข้าวเกินกว่าความต้องการบริโภคของคนในประเทศ ไทยจึงมีกำลังในการส่งออกข้าวในระดับต้น ๆ ของโลก แต่ประเทศที่นำเข้า "ข้าวจากไทย" กลับเป็นประเทศที่แทบไม่ค่อยมีใครรู้จัก คือ "เบนิน" ประเทศขนาด 70.47 ล้านไร่ ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา ที่มีประชากรในประเทศเพียง 12 ล้านคน 

ในปี 2565 เบนินมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 0.66 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.93 ของพื้นที่ทั้งหมด ผลิตข้าวได้เพียง 0.24 ล้านตัน และ "ข้าว" ก็ไม่ใช่อาหารหลักของชาวเบนินด้วย พวกเขานิยมบริโภค "ข้าวโพด" มากกว่า 

แต่จุดเด่นของ "เบนิน" คือเป็นประเทศที่มีอัตราภาษีนำเข้าและอุปสรรคทางการที่ค่อนข้างต่ำ โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้นำเข้าในประเทศ และให้สามารถนำเข้าและส่งออกต่อ (Re-export) สินค้า ไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (Land Locked) อย่างกลุ่มประเทศซาเฮล (Sahel countries) หรือไนจีเรียที่มีพรมแดนติดกัน

พูดให้เห็นภาพมากขึ้น เบนิน เสมือนพ่อค้าคนกลาง ที่รับซื้อข้าวจากเอเชียเข้าประเทศ และขายต่อให้ประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงแทบทั่วทวีปแอฟริกา 

"อินเดีย" คู่แข่งส่งออกข้าว "ไทย"

ในระหว่างปี 2559 - 2561 ไทยส่งออกข้าวไปเบนินประมาณ 1,400,000 - 1,600,000 ตัน/ปี ต่อมาในปี
2562 - 2564 ไทยส่งออกข้าวไปเบนินลดลง ด้วยปัญหาเงินบาทแข็งค่า และปัญหาด้านการขนส่งและค่าระวางเรือ การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ราคาข้าวไทยอยู่ในระดับสูงและสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาในตลาดเบนิน ทำให้เบนินนำเข้าข้าวจากไทยลดลง โดยหันไปนำเข้าจากประเทศคู่แข่งอย่าง "อินเดีย" แทน

แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560 -2564) ไทยส่งออกข้าวไปภูมิภาคแอฟริกามากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 50 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมด เพียงแต่ "แอฟริกาใต้" ขึ้นเป็นอันดับ 1 นำเข้าข้าวจากประเทศไทย 

แอฟริกาชอบบริโภค "ข้าวเก่า" ?

ยังไม่มีข้อยืนยันว่าชาวแอฟริกันชอบกิน "ข้าวเก่า" ตามคำที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้เคยกล่าวกับสื่อ และคำว่า "เก่า" ของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน นอกเหนือจากเสียงสะท้อนของชาวไนจีเรีย ประเทศที่มีประชากรมากกว่า 220 ล้านคนและบริโภคข้าวจากไทยเป็นหลักแล้ว ยังมีรายงานว่าเอกอัครราชทูตชาวแอฟริกันใน กทม. ก็ได้ตั้งคำถามถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับแผนของรัฐบาลไทยที่จะจัดส่งข้าวอายุ 10 ปีไปยังแอฟริกา 

แหล่งข่าวในกระทรวงการต่างประเทศยืนยันกับ "ไทยพีบีเอสเวิลด์" ว่าประเด็นดังกล่าวได้มีการหารือกันระหว่างการประชุมเมื่อวันที่ 20-21 พ.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสของไทยที่ดูแลภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา และทูตจากแอฟริกา

เจ้าหน้าที่ของกระทรวงรับทราบข้อกังวลของพวกเขาและจะส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

Nation.africa สื่อที่มีสำนักงานในกรุงไนโรบี อ้างคำกล่าวของนักการทูตแอฟริกาว่าการตัดสินใจขายข้าวให้กับแอฟริกาเป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดไปยังภูมิภาค โดยขายให้กับประเทศต่างๆ เช่น เคนยา ไนจีเรีย และแอฟริกาใต้ในปริมาณมาก

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์

แม้นายภูมิธรรมจะชี้ว่า นี่เป็นโอกาสทองของข้าวไทยในจังหวะนี้ เพราะ "อินเดีย" คู่แข่งเจอปัญหาวิกฤตภัยแล้ง การส่งออกล็อตข้าวจำนวน 15,000 ตันนี้ จะสร้างรายได้กลับคืนสู่รัฐจำนวน 200-400 ล้านบาท แต่สิ่งที่น่าจับตาคือ ราคานี้คุ้มค่ามากน้อยเพียงใดกับชื่อเสียงของ "ข้าวไทย" และ "ประเทศไทย" ในฐานะประเทศส่งออกข้าวสู่ภูมิภาคแอฟริกาตีคู่กับ "อินเดีย" แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า "ไม่มีใครอยากกินข้าวเก่า" รวมถึงเสียงปลายทางของคนแอฟริกาที่สะท้อนว่า

เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ที่แอฟริกาเป็นเหมือนบ่อทิ้งขยะชั้นดี

อ่านข่าว : วิกฤตภัยแล้งอิตาลี-อินเดียงดส่งออก โอกาสทอง“หอมมะลิไทย”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง