ถือเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยครั้งที่ 2 สำหรับพรรคสีส้มในสนามเลือกตั้งชลบุรี หลังจากเลือกตั้งปี 2562 เมื่อครั้งยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ มี สส. 2 คน ที่ถูกเรียกเป็น “งูเห่า” โหวตสวนทางพรรค คือ น.ส.กวินนาค ตาคีย์ สส.เขต 7 กรณีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2563 และนายขวัญเลิศ พานิชมาท สส.เขต 5 กรณีไม่ลงชื่อแก้ไข มาตรา 112
ต่อมาเมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค พอถึงเลือกตั้งปี 2566 สส.ทั้ง 2 คนนี้ ย้ายไปสมัคร สส.ชลบุรี พรรคภูมิใจไทย แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งทั้งคู่
นายขวัญเลิศ เป็น สส.เขต 5 อ.เกาะสีชัง เป็นพื้นที่หลัก พื้นที่เดียวกับ สส.กฤษณ์ ในการเลือกตั้งปี 2566 จึงเป็นที่มาของโพสต์ข้อความแบบจัดหนักของ “เจ๊เจี๊ยบ” นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล แกนนำค่ายสีส้ม จ.นครปฐม ว่า เป็นงูเห่าซ้ำซากในเขตเดิมซ้ำเติมประชาชนที่เคยผิดหวังมาแล้ว
แม้เลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่จะปักธง สส.ชลบุรี ได้ถึง 3 เขต แต่ในการเลือกนายกฯเมืองพัทยา ที่เป็นเสมือนศูนย์กลางไข่แดงของทั้ง 3 เขตเลือกตั้งนี้ เมื่อเดือน พ.ค.2565 นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ทายาทตระกูลดัง และเป็นเครือข่ายบ้านใหญ่ “คุณปลื้ม” ก็เอาชนะคู่แข่งทั้งหมด รวมทั้งจากคณะก้าวหน้าพัทยาแบบสู้กันไม่ได้
เลือกตั้งปี 2566 แม้พรรคก้าวไกล จะชนะทั้งบ้านใหญ่และบ้านใหม่ ปักธง สส.ชลบุรี ได้ถึง 7 เขตจาก 10 เขตเลือกตั้ง แต่ต่อมา กกต.ได้สั่งดำเนินคดีอาญากับนายชวาล พลเมืองดี สส.ชลบุรี เขต 3 พรรคประชาชน ฐานจงใจยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายในการเลือกตั้งไม่ถูกต้องครบถ้วนเมื่อปลายปี 2567
เป็นการเริ่มต้นเค้าลางที่ไม่สู้ดี ก่อนที่จะขัดแย้งกันเองถึงขั้นแตกหักในสนามเลือกตั้งระดับชาติ จากกรณี สส.กฤษณ์
ไม่เพียงเท่านั้น การเลือกตั้งท้องถิ่น อย่างศึกชิง นายกฯ อบจ.ชลบุรี เมื่อ 2 ก.พ.2568 ผู้สมัครจากพรรคประชาน ก็แพ้ให้กับนายวิทยา คุณปลื้ม ทายาทบ้านใหญ่ ชนิดแพ้กันครึ่งต่อครึ่ง และล่าสุด เลือกตั้งนายกฯ เล็ก 11 พ.ค.2568 ทีมบ้านใหญ่ชลบุรี สามารถกวาดที่นั่งสำคัญในเกือบทุกพื้นที่
สะท้อนแพ้ในสนามใหญ่ แต่ในสนามท้องถิ่น “บ้านใหญ่”ยังมีมนต์ขลัง ฐานเสียงยังแน่นปึ้ก
ที่จริง สนามเลือกตั้ง สส.ชลบุรี จัดเป็นหนึ่งในสนามอาถรรพณ์การเมืองก็ไม่ผิดนัก เพราะ แม้แต่ในยุคสมัยที่ “กำนันเป๊าะ” นายสมชาย คุณปลื้ม ประมุขบ้านใหญ่ยังเปี่ยมบารมี เป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกับพรรคการเมืองใหญ่ ทั้งพรรคสามัคคีธรรม ของนายณรงค์ วงศ์วรรณ และพรรคชาติไทย ของนายบรรหาร ศิลปอาชา
“ทีมบ้านใหญ่” ปักธงกวาด สส.เมืองชล เป็นว่าเล่น หลายครั้งยกจังหวัด หรือเหลือเว้นให้พรรคอื่น 1-2 ที่นั่งเท่านั้น ไม่ว่าเลือกตั้งปี 35/1 ในนามพรรคสามัคคีธรรม และเลือกตั้ง ปี 2538 ปี 2539 และปี 2544 ในนามพรรคชาติไทย หรือแม้แต่ปี 2548 ที่ย้ายเข้าสังกัดพรรคไทยรักไทย ของนายทักษิณ ชินวัตร ก็ปักธงเหมายกจังหวัดได้
แต่หลังเกิดกลุ่มพันธมิตรฯ โดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นแกนนำขับไล่นายทักษิณ และต่อเนื่องการเกิดรัฐประหารปี 2549 ในเลือกตั้งปี 2550 “บ้านใหญ่” กลับแพ้ยกจังหวัด ให้กับผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยึดได้ทั้งจังหวัดแทน จนบ้านใหญ่ต้องปรับตัวเป็นพรรคระดับจังหวัด ชื่อพรรคพลังชล จึงสามารถยึดเก้าอี้ สส.คืนได้ในการเลือกตั้งปี 2554
และหากย้อนกลับไป การเลือกตั้ง 35/2 เดือนกันยายน บ้านใหญ่ “คุณปลื้ม” ก็เคยพ่ายแพ้ให้กับพรรคเอกภาพ ของนายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานสภาผู้แทนฯ ที่เป็นเสมือนหนามยอกอกบ้านใหญ่ มาแต่ไหนแต่ไร และสามารถสอดแทรกเข้าสภาฯได้หลายครั้ง
หรือหากย้อนหลังกลับไปหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 ในยุค “แสวงหา” ของกลุ่มปัญญาชน 2 คนดังอ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ที่เป็นเพื่อนรักในแวดวงไร่อ้อยและโรงน้ำตาล ไม่มีใครไม่รู้จัก “เฮียซุ้ย”นายดรงค์ สิงห์โตทอง และ เสี่ยโยชน์ นายประโยชน์ เนื่องจำนงค์ ทั้งคู่ร่วมกันก่อตั้งพรรคสันติชน และลงสมัคร ส.ส.ชลบุรี
ก่อนที่ในเวลาต่อมา จะแตกคออยู่คนละพรรคการเมือง และผลัดเปลี่ยนเป็น สส.ชลบุรี โดยนายประโยชน์เติบโตถึงขั้นเป็นรัฐมนตรีช่วยอุตสาหกรรม รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และความขัดแย้งของ 2 ตระกูลนี้
ยังต่อเนื่องมาถึงรุ่นลูกปัจจุบัน นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ลูกชายนายโยชน์ ยังเลือกร่วมงานกับ “บ้านใหญ่” ของ นายสนธยา คุณปลื้ม ในการเลือกตั้ง สส.ชลบุรี ปี 2566 แต่พ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับ นายจิรวุฒิ สิงห์โตทอง ทายาทตระกูลสิงห์โตทอง ที่ต้องย้ายจากพรรคเพื่อไทย ไปพรรครวมไทยสร้างชาติ ร่วมกับนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ ในครม.น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หลังจากทายาท 2 ตระกูลดัง ต้องผลัดกันแพ้ชนะในสนามเลือกตั้งมานาน
ถือเป็นส่วนหนึ่งในอาถรรพณ์การเมืองชลบุรี ที่คอการเมืองพันธุ์แท้ นำมาวิพากษ์วิจารณ์กัน กระทั่งถึงกรณี “สส.งูเห่า” ภาค 2
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว :
แท็กที่เกี่ยวข้อง: