ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทำความเข้าใจ บทบาท อำนาจ "ผู้รักษาการนายกรัฐมนตรี"

การเมือง
14:37
4,837
ทำความเข้าใจ บทบาท อำนาจ "ผู้รักษาการนายกรัฐมนตรี"
อ่านให้ฟัง
12:52อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ในสถานการณ์ที่นายกรัฐมนตรีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ชั่วคราว ตำแหน่ง "ผู้รักษาการนายกรัฐมนตรี" จะเข้ามามีบทบาทสำคัญเพื่อป้องกันสุญญากาศทางการเมืองและขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน ชวนทำความเข้าใจอำนาจหน้าที่ ข้อจำกัดของตำแหน่งนี้

วันนี้ (1 ก.ค.2568) ประเทศไทยเผชิญสถานการณ์การเมืองที่ตึงเครียด หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9:0 รับคำร้องจากสมาชิกวุฒิสภา 36 คน นำโดยนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ขอให้วินิจฉัยกรณีคลิปเสียงสนทนาระหว่าง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับสมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา ซึ่งถูกมองว่าสร้างความเสียหายต่อความมั่นคงและอธิปไตยของชาติ

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7: 2 สั่งให้ น.ส.แพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2568 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ส่งผลให้ "นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม ต้องก้าวขึ้นมาเป็น "ผู้รักษาการนายกรัฐมนตรี" เนื่องจาก นายภูมิธรรม เวชยชัย ซึ่งอยู่ในโผคณะรัฐมนตรีแพทองธาร 2 ยังไม่ได้เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 ก.ค.2568

บทบาท "ผู้รักษาการนายกรัฐมนตรี หรือเรียกสั้นๆ ตามเข้าใจ รักษาการนายกฯ" มีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาความต่อเนื่องของการบริหารราชการแผ่นดินในยามที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ เพื่อป้องกันภาวะสุญญากาศทางการเมือง ชวนทำความเข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ และข้อจำกัดของผู้รักษาการนายกรัฐมนตรีในบริบทสถานการณ์ปัจจุบัน

บทบาทสำคัญยามวิกฤต "รักษาการนายกฯ" คือใคร ?

ผู้รักษาการนายกรัฐมนตรี (Acting Prime Minister) มีบทบาทสำคัญในการประคองการบริหารประเทศเมื่อนายกรัฐมนตรีตัวจริงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางกฎหมาย การเจ็บป่วย หรือการถูกพักจากตำแหน่งชั่วคราว เพื่อให้มั่นใจว่ารัฐบาลจะไม่หยุดชะงักและสามารถดำเนินงานต่อได้อย่างราบรื่น

ความแตกต่างระหว่าง "รักษาราชการแทน" และ "ปฏิบัติราชการแทน" ในทางกฎหมายไทย มีการกำหนดความแตกต่างระหว่าง 2 คำนี้อย่างชัดเจน

1. รักษาราชการแทน (Acting on behalf of duty) ใช่ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ดำรงตำแหน่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยบทบาทนี้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติตามกฎหมาย ไม่ต้องมีคำสั่งแต่งตั้ง การรักษาราชการแทนจะสิ้นสุดเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งเดิมกลับมาปฏิบัติหน้าที่หรือมีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งใหม่ ตำแหน่งผู้รักษาการนายกรัฐมนตรีอยู่ในขอบเขตนี้

2. ปฏิบัติราชการแทน (Performing duties on behalf of) ใช้เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่เลือกมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทนเพื่อความสะดวกหรือกระจายความรับผิดชอบ โดยต้องมีหนังสือมอบอำนาจอย่างเป็นทางการ เช่น นายกรัฐมนตรีตัวจริงเดินทางไปประชุมต่างประเทศ ก็จะมีหนังสือแต่งตั้งให้รองนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ในห้วงเวลานั้น ๆ หรือจะมีคำศัพท์ที่เรียกว่า "นายกรัฐมนตรีรักษาการ"

สรุป รักษาการนายกรัฐมนตรี คือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ เมื่อผู้นำไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ชั่วคราว เช่น กรณีถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ขณะที่ นายกรัฐมนตรีรักษาการ คือ นายกฯ ตัวจริง ที่พ้นจากตำแหน่งแล้ว เช่น หลังยุบสภาหรือลาออก ผู้นำคนเดิมยังคงทำหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าจะมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ 

การเข้ารับตำแหน่ง รักษาการนายกฯ ตามกฎหมาย เมื่อนายกรัฐมนตรีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ รองนายกรัฐมนตรีจะได้รับมอบหมายให้เป็น รักษาการนายกฯ เป็นลำดับแรก หากมีรองนายกรัฐมนตรีหลายคน ครม.จะกำหนดลำดับผู้รักษาการ

ในกรณีของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2568 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม ได้รับมอบหมายให้เป็น รักษาการนายกฯ เนื่องจากนายภูมิธรรม เวชยชัย ซึ่งอยู่ในโผ ครม.แพทองธาร 2 ยังไม่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในวันที่ 3 ก.ค.2568 ทำให้ขาดคุณสมบัติในการรักษาการในช่วงเวลานี้

อำนาจและหน้าที่ของ "รักษาการนายกฯ" 

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 รักษาการนายกฯ มีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีทุกประการ เช่น การนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี การเป็นประธานการประชุม ครม. หรือการตัดสินใจในนโยบายสำคัญ หากนายกรัฐมนตรีเป็นกรรมการในคณะใด ผู้รักษาการนายกรัฐมนตรีจะรับหน้าที่นั้นด้วย

ในกรณีของนายสุริยะ เขาจะเป็นผู้นำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ (ครม.แพทองธาร 2) เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณในวันที่ 3 ก.ค.2568 เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินต่อไปได้

ส่วนข้อจำกัดของ รักษาการนายกฯ ถึงแม้จะมีอำนาจใกล้เคียงนายกรัฐมนตรี แต่ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีตัวจริงอย่าง น.ส.แพทองธาร ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว (แต่ยังดำรงตำแหน่งอยู่) รักษาการนายกฯ อย่างนายสุริยะจะมีข้อจำกัดสำคัญ ดังนี้

1. การบริหารงานบุคคลและงบประมาณ การแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการการเมือง รวมถึงการอนุมัติงบประมาณแผ่นดินที่อยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีตัวจริงก่อน ในสถานการณ์ที่ น.ส.แพทองธารถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ การตัดสินใจในเรื่องเหล่านี้อาจต้องรอจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยขั้นสุดท้าย หรือต้องดำเนินการผ่านกลไกอื่นตามกฎหมาย

2. การยุบสภา รักษาการนายกฯ ไม่สามารถตัดสินใจยุบสภาได้ด้วยตนเอง ในขณะที่นายกรัฐมนตรีตัวจริงยังดำรงตำแหน่งอยู่ แม้จะถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ การยุบสภาเป็นอำนาจเฉพาะของนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งในกรณีนี้ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคประชาชน ได้เรียกร้องให้ น.ส.แพทองธารยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน แต่นายสุริยะในฐานะผู้รักษาการไม่มีอำนาจดำเนินการในเรื่องนี้

การสิ้นสุดบทบาทบทบาทของ รักษาการนายกฯ จะสิ้นสุดลง เมื่อนายกรัฐมนตรีตัวจริงกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือเมื่อมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในกรณีของนายสุริยะ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า น.ส.แพทองธารพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือในทางกลับกัน มีคำสั่งให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้ นายสุริยะจะกลับไปทำหน้าที่ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม ตามเดิม

รู้จัก "สุริยะ" ผู้ไม่เคยเป็นฝ่ายค้าน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เกิด วันที่ 10 ธ.ค.2497 เป็นนักการเมืองมากประสบการณ์ของไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม ในรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และปฏิบัติหน้าที่ "รักษาการนายกฯ" ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2568

เริ่มต้นเส้นทางการเมืองในปี 2541 ในฐานะ รมช.อุตสาหกรรม สังกัดพรรคกิจสังคม ต่อมาเข้าร่วมพรรคไทยรักไทยในปี 2544 ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคและ รมว.อุตสาหกรรมและคมนาคม ในรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ผลงานเด่นรวมถึงการจัดตั้งธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ และการส่งเสริมสายการบินราคาประหยัด ซึ่งเปลี่ยนโฉมการเดินทางทางอากาศของไทย

นายสุริยะ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมอุตสาหการจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา ในปี 2521 และวุฒิบัตรจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ปี 2538 หลังถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี จากคดียุบพรรคไทยรักไทยในปี 2550

ได้เข้าร่วมกลุ่มสามมิตรและพรรคพลังประชารัฐในปี 2561 ก่อนย้ายกลับสู่พรรคเพื่อไทยในปี 2566 ได้รับเลือกเป็น สส.บัญชีรายชื่อ และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลเศรษฐาและแพทองธาร

เส้นทางรัฐมนตรีของ "สุริยะ"

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ถือเป็นนักการเมืองที่มีประสบการณ์ยาวนาน โดยเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีใน 4 รัฐบาล ได้แก่

  1. รัฐบาล นายชวน หลีกภัย (พ.ศ.2538-2540) ในตำแหน่ง รมช.อุตสาหกรรม 
  2. รัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร (พ.ศ.2544-2549) ในตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม และ รมว.คมนาคม
  3. รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พ.ศ.2562-2566) ในตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม
  4. รัฐบาล พรรคเพื่อไทย (นายเศรษฐา ทวีสิน และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร) (พ.ศ. 2566-ปัจจุบัน) ในตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม

อ่านข่าวอื่น :

"สุริยะ" นั่งรักษาการนายกฯ หลังศาล รธน.สั่ง "แพทองธาร" หยุดปฏิบัติหน้าที่

เปิด 9 คดีสำคัญ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ประชุมปรึกษาคดีวันนี้

"แพทองธาร" น้อมรับคำสั่งศาล รธน.ขอโทษคนไทยทำให้ไม่สบายใจปมคลิปเสียง