จากประกาศยกเลิกพระบรมราชโองการการสถาปนาสมณศักดิ์พระสงฆ์ 4 รูป และพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ 77 รูป รวม 81 รูป ตามประกาศพระบรมราชโองการ จำนวน 2 ฉบับ ลงวันที่ 22 มิ.ย.2568 ในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 28 ก.ค.2568
นับเป็น “ครั้งแรก” ในประวัติศาสตร์วงการศาสนาของเมืองไทย ซึ่งหมายความว่า พระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ทั้งสถาปนาสมณศักดิ์ และตั้งสมณศักดิ์ จะต้องกลับเป็นอยู่ในสถานะเดิมทั้งสิ้น เช่น พระครู หรือ พระมหา ที่ได้รับพระราชทานสมศักดิ์เป็น พระสัญญาบัตร ชั้นสามัญ หรือ เจ้าคุณชั้นสามัญ ก็ต้องกลับมาดำรงสมศักดิ์หรือฐานะเดิม
“ไทยพีบีเอสออนไลน์” ตรวจสอบราชกิจจานุเบกษาย้อนหลัง ไปยังกรณีพระสงฆ์ของไทย “ถูกถอดถอนสมณศักดิ์” ตั้งแต่ในอดีตกว่า 100 ปี พบพระราชาคณะถูก “ถอดสมณศักดิ์” มีทั้งเรื่องการเมือง การปฏิบัติหน้าที่ กระทำผิดพระธรรมวินัย ทุจริต และเรื่องส่วนตัว ฯลฯ
ก่อนปี พ.ศ.2500
รูปแรก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ก.พ.2449 อาจารย์สยามปริยัติ (นาก) อาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดชนะสงคราม ถูกถอดถอนออกจากสมณศักดิ์ และไม่ให้อยู่ในวัดชนะสงคราม เนื่องจากประพฤติอนาจาร ผิดด้วยพระวินัยบัญญัติและพระราชบัญญัติ โดยกระทรวงธรรมการ ประกาศแก่เจ้าอาวาสทั้งหลาย อย่าให้รับพระนาก ผู้ประพฤติลามกในพระพุทธศาสนาอยู่ในอารามหนึ่งอารามใดต่อไป
วันที่ 14 พ.ย.2449 พระครูศีลคุณธราจารย์ (อิ่ม) วัดพลับพลาไชย ถูกถอดถอนออกจากสมณศักดิ์ เนื่องจากประพฤติไม่สมควร ด้วยการบอกหวยให้ผู้อื่น
วันที่ 1 ก.ย.2457 พระครูสุขวโรทัย เจ้าคณะเมืองศุโขทัย ถูกถอดถอนจากสมณศักดิ์ และให้ออกจากตำแหน่งเจ้าคณะเมือง เนื่องจากปฏิบัติกิจไม่สมควรแก่หน้าที่
วันที่ 3 ม.ค.2458 พระเทพโมลี (จันทร์ สิริจนฺโท) วัดบรมนิวาส ถูกถอดถอนสมณศักดิ์และออกจากตำแหน่งพระราชาคณะ เนื่องจากรจนาหนังสือชื่อว่า ธรรมวิจยานุสาศ พิมพ์แจกในงานศพ ม.ร.ว.ดวงใจ แสดงโวหารอันไม่ชอบด้วยทำนองคลองธรรม เอื้อมเข้ามาถึงการแผ่นดิน เป็นเหตุจะชักนำให้ผู้ที่มีวิจารณญาณยังอ่อนอยู่พลอยหันเหไปตาม โดยมอบตัวพระจันถวาย สมเด็จพระมหาสมณะ เพื่อทรงทรมานกว่าจะเข็ดหลาบ
วันที่ 1 มิ.ย.2460 พระพิศาลสมณกิจ (ริด) ถูกถอดถอนออกจากพระราชาคณะ และตำแหน่ง เนื่องจากไม่รับภาระธุระพระพุทธศาสนา ซึ่งขัดพระบรมราชโองการและขัดพระมหาสมณศักดิ์
วันที่ 26 มี.ค.2461 พระครูเขมวิถีนายก (สด) เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ ถูกถอดถอนออกจากสมณะฐานันดรและตำแหน่ง เนื่องจากกระทำความผิดไม่สมควรแก่ตำแหน่งและฐานันดร มีความดุร้ายและกล่าวเท็จ เป็นต้น
วันที่ 9 ก.ย.2472 พระครูสัทธรรมโกวิท (เทพวงศ์) เจ้าคณะแขวงอำเภอพร้าว จ.เชียงใหม่ ถูกถอดถอนออกจากสมณศักดิ์ เนื่องจากต้องอธิกรณ์ฐานล่วงปฐมปาราชิก และไม่สามารถเปลื้องตนให้บริสุทธิ์ได้ ตกอยู่ในฐานมัวหมอง
วันที่ 14 พ.ย.2474 พระพุทธวิโสภณ (อ่ำ) เจ้าอาวาสวัดหน้าพระเมรุ พระนครศรีอยุธยา ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสและสมณศักดิ์ เนื่องจากเป็นผู้ต้องหาฐานปลอมหนังสือ แม้ศาลยกฟ้อง แต่ก็ยังมีมลทิน เป็นที่น่ารังเกียจ และบกพร่องในจรรยาอันควรแก่ศักดิ์แห่งตำแหน่ง
วันที่ 17 ต.ค.2477 พระญาณนายก (ปลื้ม) เจ้าคณะจังหวัดกิตติมศักดิ์ วัดอุดมธานี จ.นครนายก ถูกถอดถอนออกจากสมณศักดิ์ เนื่องจากล่วงละเมิดการปกครองคณะสงฆ์ ฝ่าฝืนพระสังฆราชาณัติ
วันที่ 26 ส.ค.2483 พระครูธรรมจักรชโยดม (พูน ป.3) เจ้าอาวาสวัดธรรมามูล และเจ้าคณะแขวงเมืองชัยนาท จ.ชัยนาท ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งและสมณศักดิ์ เนื่องจากต้องอธิกรณ์ ซึ่งกรรมการสงฆ์วินิจฉัยให้สึก
วันที่ 2 ต.ค.2483 พระครูธรรมานุกูล เจ้าอาวาสวัดกันมาตุยาราม จ.พระนคร ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งและสมณศักดิ์ เนื่องจากต้องอธิกรณ์และขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าคณะ
วันที่ 5 มี.ค.2485 พระเมธาธรรมรส (เสาร์ ป.6) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม จ.ธนบุรี ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งและสมณศักดิ์ เนื่องจากต้องอธิกรณ์ทุติยปาราชิก
ส่วนการคืนสมณศักดิ์ในยุคก่อนปี พ.ศ.2500 หลังจากมีการสอบสวนในความผิดนั้น ๆ เสร็จสิ้นแล้ว มีพระสงฆ์ที่ได้รับสมณศักดิ์คืน 3 รูป ได้แก่ พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) พระศาสนโศภน (ปลอด อตฺถการี) โดยมหาเถรสมาคม ได้มีคำสั่งให้ระงับอธิกรณ์ และถือว่าไม่มีมลทินโทษแต่ประการใดแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระเถระทั้ง 2 รูป กลับคืนมีสมณศักดิ์ดังเดิม เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2518
พ.ศ.2459 โปรดเกล้าฯ คืนสมณศักดิ์ให้ พระเทพโมลี (จันทร์ สิริจนฺโท) กลับมาได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ “พระธรรมธีรราชมหามุนี” ต่อมา พ.ศ.2466 เป็นเสมอพระราชาคณะชั้นธรรมที่ “พระโพธิวงศาจารย์” และ พ.ศ.2468 เป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรอง ฝ่ายอรัญวสี ที่ “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์”
หลังปี พ.ศ.2500
วันที่ 11 พ.ย.2503 พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ถูกถอดถอนสมณศักดิ์ เนื่องจากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช
วันที่ 11 พ.ย.2503 พระศาสนโศภน (ปลอด อตฺถการี) ถูกถอดถอนออกจากสมณศักดิ์ เนื่องจากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช
วันที่ 21 พ.ค.2525 พระครูปริยัตยานุกูล (สงวน ชิตมาโร) วัดสิริจันทรนิมิต จ.ลพบุรี ถูกถอดถอนจากสมณศักดิ์ เนื่องจากประพฤติบกพร่องย่อหย่อนในพระธรรมวินัย เกี่ยวกับมาตุคาม และละเมิดจริยาพระสังฆาธิการอย่างร้ายแรง
วันที่ 4 มี.ค.2560 พระเทพญาณมหามุนี (พระไชยบูลย์ สุทธิผล) วัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี ถูกถอดถอนจากสมณศักดิ์ เนื่องจากเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีกระทำความผิดข้อหาร่วมกันฟอกเงิน สมคบกันฟอกเงิน และรับของโจร ตามที่ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับ และยังถูกกล่าวหาในคดีอาญาฐานอื่นอีกหลายฐานความผิด แต่พระเทพญาณมหามุนีไม่ยอมมอบตัวตามหมายเรียกและได้หลบหนีคดีดังกล่าว
วันที่ 8 มี.ค.2560 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที่ 9 ข เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ถอดถอนสมณศักดิ์ พระราชภาวนาจารย์ (พระทัตตชีโว หรือ เผด็จ ทัตตชีโว) วัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับสนองพระราชโองการ
วันที่ 29 พ.ค.2561 มีพระเถระที่ถูกถอดถอนจากสมณศักดิ์ เนื่องจากเป็นผู้ถูกกล่าวหากระทำการทุจริตและถูกดำเนินคดีอาญา ในความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์และปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต คดีเงินทอนวัด จำนวน 7 รูป ได้แก่
1.พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขโข) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร.
2.พระพรหมเมธี (จำนงค์ เอี่ยมอินทรา) วัดสัมพันธวงศาราม
3.พระพรหมดิลก (เอื้อน กลิ่นสาลี) วัดสามพระยา.
4.พระราชอุปเสณาภรณ์ (สมณศักดิ์เดิมคือ พระเมธีสุทธิกร) (สังคม สังฆะพัฒน์) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร.
5.พระราชกิจจาภรณ์ (สมณศักดิ์เดิมคือ พระวิจิตรธรรมาภรณ์) (เทอด วงศ์ชะอุ่ม) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร.
6.พระอรรถกิจโสภณ (สมทรง อรรถกฤษณ์) วัดสามพระยา.
7.พระศรีคุณาภรณ์ (บุญทวี คำมา) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร.
วันที่ 3 ม.ค.2565 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนที่ 1 ข เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ถอดถอนสมณศักดิ์ พระราชพัฒนาภรณ์ วัดไชโยวรวิหาร ซึ่งเดิมได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เลื่อนจาก พระสิทธิพัฒนาภรณ์ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2558 ต่อมาวันที่ 30 มิ.ย.2564 ที่ประชุมมหาเถรสมาคม มีมติให้ออกจากตำแหน่ง รองเจ้าคณะจังหวัดอ่างทอง และเจ้าอาวาสวัดไชโย เนื่องจากหย่อนความสามารถ และวันที่ 10 ส.ค.2564 ที่ประชุมมหาเถรสมาคมมีมติให้ถอดถอน พระราชพัฒนาภรณ์ ออกจากสมณศักดิ์
โปรดเกล้าฯถอดถอน “พระราชพัฒนาภรณ์” ออกจากสมณศักดิ์
การคืนสมณศักดิ์ หลังปี พ.ศ.2500
วันที่ 18 มี.ค.2566 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการสถาปนาสมณศักดิ์ พระพรหมดิลก (เอื้อน กลิ่นสาลี) ซึ่งถูกถอดสมณศักดิ์ เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2561 หลังถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดอาญา (คดีเงินทอนวัด) กระทั่งคดีสิ้นสุดลง จึงโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ พระมหาเอื้อน หาสธมฺโม ดำรงสมณศักดิ์ พระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามว่า พระพรหมดิลก โดยให้ถือว่าไม่เคยถูกถอดถอนสมณศักดิ์และราชทินนามมาก่อน
ต่อมา วันที่ 2 พ.ค.2566 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนที่ 17 ข เผยแพร่ประกาศ พระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์ ให้แก่ พระสมทรง อตฺตคุตโต วัดสามพระยา กรุงเทพฯ หลังถูกถอดถอนสมณศักดิ์ เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2561 เพราะถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับคดีเงินทอนวัด และเมื่อคดีสิ้นสุด
จึงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ให้ พระสมทรง อตฺตคุตฺโต เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ มีนามว่า “พระอรรถกิจโสภณ” โดยให้ถือว่าไม่เคยถูกถอดถอนสมณศักดิ์และราชทินนามมาก่อน
ต่อมาวันที่ 15 พ.ค.2567 ในกรณีเดียวกัน ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการ คืนสมณศักดิ์ให้เหมือนเดิม 2 รูป
โปรดเกล้าฯ คืนสมณศักดิ์ “พระพรหมสิทธิ-พระศรีคุณาภรณ์”
1.ให้ พระธงชัย สุขณาโณ ดำรงสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า “พระพรหมสิทธิ” กิตติธรรมประยุต วิสุทธิศีลาจาร สุวิธานวรกิจจานุกิจ วิสิฐวิเทศศาสนวราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร
2.ให้ พระมหาบุญทวี ปญญาว์โส วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ มีนามว่า “พระศรีคุณาภรณ์”
โดยให้ถือว่าไม่เคยถูกถอดถอนสมสมศักดิ์และราชทินนามมาก่อน
ต่อมาวันที่ 29 พ.ย.2567 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 141 ตอนที่ 79 ข เผยแพร่พระบรมราชโองการ ประกาศ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ ให้ พระราชอุปเสณาภรณ์ (สังคม สังฆะพัฒน์) และพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด วงศ์ชะอุ่ม) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร หลังถูกกล่าวหาว่า กระทำการทุจริตและถูกดำเนินคดีอาญา และได้มีพระราชโองการถอดถอนสมณศักดิ์ เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2561 ซึ่งศาลมีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว
อ่านข่าว : สึกแล้ว "เจ้าคณะจังหวัดพิษณุโลก" ปมโยงสีกากอล์ฟ
เสนอ "พระเมธีธรรมประนาท" เจ้าคณะอำเภอเมืองพิจิตร เป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดท่าหลวง