ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"จิตสำนึกบิดเบี้ยว" อ.ตฤณห์ วิเคราะห์สีกากอล์ฟ มองผิดเป็นเรื่องปกติ

อาชญากรรม
19:42
638
"จิตสำนึกบิดเบี้ยว" อ.ตฤณห์ วิเคราะห์สีกากอล์ฟ มองผิดเป็นเรื่องปกติ
อ.ตฤณห์ โพธิ์รักษา นักอาชญาวิทยา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล วิเคราะห์พฤติกรรม "สีกากอล์ฟ" ชี้ชัดแรงจูงใจหลักคือเงินจากการพนันออนไลน์ พร้อมเผยเป็นพฤติกรรม "ล่าเหยื่อพระสงฆ์ระดับสูง" อย่างเป็นระบบ มีการวางแผน และครอบครัวอาจมีส่วนรู้เห็นสนับสนุน

วันนี้ (16 ก.ค.2568) ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา นักอาชญาวิทยา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล ได้ให้มุมมองวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมของ "สีกากอล์ฟ" ซึ่งเป็นกรณีที่กำลังถูกสังคมจับตาอย่างใกล้ชิด อ.ตฤณห์ ชี้ว่าการที่เงินที่ได้มาถูกนำไปลงกับเว็บพนันออนไลน์นั้น ทำให้มองได้ว่าแรงจูงใจหลักของการก่อเหตุในลักษณะนี้คือเรื่อง "เงิน" โดยตรง ตามสถิติแล้ว เวลาที่ผู้หญิงก่ออาชญากรรม แรงจูงใจอันดับ 1 มักจะเป็นเรื่องทรัพย์สินและเงิน

ในการวิเคราะห์เคสนี้ จำเป็นต้องแยกไทม์ไลน์ให้ดีว่า ตอนที่สีกากอล์ฟก่อเหตุนั้น เริ่มต้นด้วยแรงจูงใจทางเพศ ตัณหาทางเพศ หรือมุ่งหวังทรัพย์สินตั้งแต่แรก เนื่องจากพฤติกรรมเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงข้ามวัน แต่มีประวัติการกระทำมาอย่างยาวนานต่อเนื่อง

หากตอนแรกเป็นการสนองความใคร่เรื่องเพศอย่างเดียว อาจมองว่าเป็นพฤติกรรมทางเพศที่ผิดปกติ แต่หากมีเรื่องทรัพย์สินเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ต้องดูว่าเข้าข่ายหลอกลวงฉ้อโกงหรือไม่ มีการพบพฤติกรรมการเข้าหาพระสงฆ์มาตั้งแต่ปี 2559 ที่วัดแห่งหนึ่งในพิจิตร ซึ่งอาจตีความได้ว่านี่คือพฤติกรรมการเข้าหาทางเพศก่อน

อย่างไรก็ตาม อ.ตฤณห์เน้นย้ำว่า วิธีการของสีกากอล์ฟนั้น มีเป้าหมายที่เลือกอย่างเฉพาะเจาะจง โดยเรียกว่า "พฤติกรรมการล่าเหยื่อ" (Predatory behavior) ในทางอาชญาวิทยาคือ เธอมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าเหยื่อจะต้องเป็นใคร แม้จะกล่าวถึงพระสงฆ์ว่าเป็นเหยื่อได้ไม่เต็มปากนัก เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีความผิด แต่การเลือกเป้าหมายโดยเฉพาะเจาะจง และมุ่งหวังเรื่องทรัพย์สินอย่างชัดเจน ไม่ใช่แค่เรื่องเพศเพียงอย่างเดียว ยิ่งเมื่อมีเส้นทางการเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยต้องบอกเลยว่านี่คือ "การวางแผน"

การที่ผู้ก่อเหตุมีการบันทึกคลิป บันทึกภาพ และเก็บแชตทั้งหมดไว้ ก็เป็นการบ่งชี้ถึงการวางแผนที่ชัดเจน สิ่งเหล่านี้คือ "เครื่องมือในการต่อรอง" หรือ "เครื่องมือในการแบล็กเมล รีดไถทรัพย์สินจากเหยื่อ"

สำหรับเหตุผลที่สีกากอล์ฟเจาะจงเป้าหมายไปที่พระสงฆ์เกือบทั้งหมดนั้น อ.ตฤณห์ ให้ความเห็นว่ามีหลายประการ

ประการแรกคือ การได้เปรียบเชิงอำนาจของพระสงฆ์ โดยเฉพาะพระผู้ใหญ่ มีอิทธิพลในการจัดการเรื่องการบริหารและการเงินในวัดเป็นปริมาณมาก โดยเฉพาะในสังคมไทยที่คนนิยมบริจาคเงินจำนวนมหาศาล การตรวจสอบวัดและพระสงฆ์มีน้อยกว่าอาชีพอื่น อ.ตฤณห์ระบุว่า ก็คงต้องพูดถึงเรื่องการปฏิรูปกฎหมายด้วย

ประการที่สองคือพระสงฆ์เปราะบางมาก หากพระสงฆ์ทำผิดเพียงเล็กน้อย และมีหลักฐานว่าทำผิด เปรียบได้กับการล้มละลายในทางอาชีพเลยทีเดียว เมื่อผู้ก่อเหตุมีเครื่องมือที่เป็นข้อต่อรองอยู่ในมือ พระสงฆ์ย่อมต้องยอม การนุ่งผ้าเหลืองถือเป็นช่องทางทำมาหากินของพระบางรูปเช่นกัน หากไม่มีผ้าเหลืองแล้วก็ไม่รู้ว่าจะประกอบอาชีพอื่นได้หรือไม่ เพราะบวชมาทั้งชีวิต ดังนั้น การมีคลิปหรือหลักฐานจึงเป็นข้อต่อรองที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนและเปราะบางมากสำหรับพระที่หลวมตัวเป็นเหยื่อ

เมื่อมองลึกลงไปถึงตัวผู้ก่อเหตุเอง อ.ตฤณห์ตั้งคำถามว่า มาถึงจุดนี้แล้ว จะเรียกได้หรือไม่ว่า สีกากอล์ฟมีพฤติการณ์หรือความคิดที่เป็นปกติ ? เธอสามารถโฟนอินออกรายการทีวีบางช่องด้วยความรู้สึกที่ตอบค่อนข้างปกติ ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องผิดศีลธรรมแต่อย่างใด สามารถพูดเหมือนเป็นเรื่องของคนคู่รักทั่วไป อ.ตฤณห์อธิบายว่า "ความปกติ" หรือ "สามัญสำนึก" (Common sense) ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

แต่การที่แสดงออกและพูดถึงเรื่องการเล่นการพนัน การจีบพระก่อนคบหาเป็นแฟน เหมือนเป็นเรื่องปกติ นั่นหมายความว่า จิตสำนึกของเธอไม่ปกติเหมือนคนทั่วไป

การที่เธอมองเรื่องที่ผิดเป็นเรื่องที่ชอบ มองเรื่องที่อันตรายร้ายแรง เรื่องที่ผิดศีลธรรมอย่างรุนแรงเป็นเรื่องปกติ นี่คือ "ความคิดที่บิดเบี้ยวและไม่ปกติอย่างชัดเจน" ของตัวผู้ก่อเหตุ ความคิดที่บิดเบี้ยวนี้ อาจเป็นฐานที่นำไปสู่การพยายามเข้าหาพระ และพยายามใช้อำนาจของพระชั้นผู้ใหญ่เพื่อดึงเอาทรัพย์สินเงินทอง หรืออำนาจบารมีต่าง ๆ ด้วย

หากย้อนไทม์ไลน์ไปตั้งแต่การกระทำผิดครั้งแรก สมมติว่าคนในบ้านทราบว่าลูกสาวไปเป็นชู้กับพระสงฆ์ ซึ่งในสังคมไทยเป็นเรื่องร้ายแรง ผิดศีล ผิดบาป และเป็นความผิดมากมาย แต่การที่เธอทำผิดครั้งแรกแล้ว ครอบครัวยังเห็นดีเห็นงาม หรือสนับสนุน เมื่อครอบครัวสนับสนุนและไม่ขัดขวาง ก็เหมือนเป็นการสนับสนุนให้กระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง

กฎหมายก็เอาผิดไม่ได้ คนในบ้านก็เห็นดีเห็นงาม ไม่ได้ตำหนิ ไม่ได้บอกว่าทำแบบนี้ไม่ดี ไม่มีใครเตือนเลย สนับสนุนกันทุกฝ่าย สิ่งนี้ยิ่งเป็นแรงจูงใจให้กระทำอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อทำแล้วมีเงินใช้ ทำแล้วมีเงินไปเล่นพนันได้ครั้งละ 500,000 บาท อ.ตฤณห์ตั้งคำถามต่อว่า หากหาเงินด้วยอาชีพสุจริตทั่วไปจะทำแบบนี้ได้หรือไม่ และหากทรัพย์สินที่หลอกลวงผู้อื่นมาถูกนำมาจุนเจือที่บ้านด้วย แล้วที่บ้านไม่ห้ามปราม ก็แสดงว่าสนับสนุน ซึ่งเรียกได้ว่า "ทำกันเป็นขบวนการ"

อ.ตฤณห์ เสนอแนะ แนวทางการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์นี้ว่า ทุกคนในทุกอาชีพมีทั้งคนดีและคนไม่ดี แต่สำหรับอาชีพพระหรือนักบวช ไม่ควรมีสัดส่วนของคนไม่ดี หากเลือกที่จะมาเป็นนักบวช เป็นตัวแทนเผยแพร่คำสอนของศาสดาแล้ว จะต้องมีสติมากกว่าคนอื่น

ในวินาทีใดที่สูญเสียความบริสุทธิ์ การมีสติ หรือความละอายต่อบาป มีกิจกรรมทางเพศซึ่งเป็นเรื่องที่เสื่อม เป็นเรื่องที่ผิดอย่างมหันต์ แล้วยังสามารถนุ่งจีวรกลับมาเป็นพระสงฆ์เหมือนเดิมโดยไม่รู้สึกละอาย อ.ตฤณห์คิดว่าการปลูกจิตสำนึกไม่ได้ปลูกให้สังคมทั่วไปเท่านั้น แต่ต้องปลูกให้คนที่จะมาเป็นพระสงฆ์ หรือบรรดาสามเณรที่ยังอายุน้อยอยู่

เรื่องนี้ควรเป็นอุทาหรณ์ให้วงการพระสงฆ์มากกว่าสังคมทั่วไป เพราะคนชั่ว คนไม่ดี คนไม่มีศีลธรรม ไม่มีจิตสำนึกนั้นมีอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะผู้หญิงหรือผู้ชาย แต่ในวงการพระสงฆ์ไม่ควรมี

สำหรับในฝั่งของสีกากอล์ฟเอง ที่ปัจจัยเรื่องครอบครัวไม่มีคนห้ามปรามอาจเป็นแรงขับเคลื่อนให้ร่วมมือ อ.ตฤณห์ มองว่าเรื่องจิตสำนึกที่มองเรื่องที่ผิดเป็นเรื่องที่ชอบนั้น อยู่กับการปลูกฝังจากสถาบันครอบครัว เพราะหากเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นแล้วสังคมทั่วไปรับรู้ ย่อมจะถูกการต่อต้าน

แต่การต่อต้านจากภายนอกสังคมมักไม่ส่งผลรุนแรงมากนัก ถ้าคนบางคนไม่แคร์สังคม แต่แคร์คนในบ้าน และเมื่อคนในบ้านไม่เห็นความผิดชอบอย่างถูกต้อง นี่คือความหนักใจของสังคม

อ.ตฤณห์เปรียบเปรยว่าเป็นการปลูกฝังความคิดแบบขยะสังคม คนทั่วไปที่มีจิตสำนึกเขาจะไม่ทำเรื่องแบบนี้ นอกจากบอกลูกบอกหลานแล้ว ควรจะปลูกฝังเรื่องจิตสำนึกตั้งแต่เด็ก ๆ นี่ไม่ใช่เรื่องที่จะมาเรียนรู้ตอนโต หรือเรียนรู้ในโรงเรียนอย่างเดียว สถาบันครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง

 

อ่านข่าวอื่น :

สึกแล้ว "พระเทพปวรเมธี" ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสฯ

พระครูวินัยธรฯ เตือน ตร.ใช้สื่อบีบพระสึก ละเลยกระบวนการยุติธรรมสงฆ์