ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หมูสหรัฐฯ จ่อตีตลาดไทย เกษตรกรหวั่น "ภาษีทรัมป์" กระทบหนัก

เศรษฐกิจ
19:30
157
หมูสหรัฐฯ จ่อตีตลาดไทย เกษตรกรหวั่น "ภาษีทรัมป์" กระทบหนัก
ไทยยังรอลุ้นผลเจรจาภาษีสหรัฐฯ กับทรัมป์ หลังเวียดนามได้ข้อตกลงภาษี 20% คาดอาจต้องยอมนำเข้าหมูสหรัฐฯ แลกภาษีต่ำลง กระทบเกษตรกรรายย่อยที่เผชิญต้นทุนสูงและปัญหาหมูเถื่อน สมาคมผู้เลี้ยงหมูค้านหนัก หวั่นอุตสาหกรรมล่มสลา

วันนี้ (20 ก.ค.2568) ไทยยังคงลุ้นผลเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าไทยจากร้อยละ 36 หลังจากเวียดนามเจรจาสำเร็จได้ภาษีร้อยละ 20 รายงานระบุว่าสหรัฐฯ กดดันให้ไทยเปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมูหรือเครื่องในหมูเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ แลกกับการลดภาษี ซึ่งไทยเคยปฏิเสธมาโดยตลอด เนื่องจากกังวลเรื่องการใช้สารเร่งเนื้อแดงในหมูสหรัฐฯ ที่อาจกระทบความปลอดภัย

เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทยเผชิญปัญหามานาน ทั้งต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ต้องนำเข้า โรคระบาดอย่างอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) และหมูเถื่อนที่ทะลักเข้ามาก่อนหน้านี้ ตัวอย่างเช่น เกษตรกรรายย่อยใน อ.รัษฎา จ.ตรัง ซึ่งเคยเลี้ยงแม่หมู 13 ตัว แต่ขาดทุนจนต้องลดเหลือ 5 ตัว และเปลี่ยนมาขายลูกหมูแทนการขุนหมูเพื่อจำหน่าย เนื่องจากไม่มั่นใจในอนาคตของอาชีพนี้

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติคัดค้านการนำเข้าหมูสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ระบุว่าสถานการณ์ปัจจุบันของเกษตรกรย่ำแย่อยู่แล้ว หากนำเข้าหมูเพิ่ม อาจทำให้ผู้เลี้ยงรายย่อยกว่า 145,000 ราย (ร้อยละ 97 ของผู้เลี้ยงทั้งหมด) เจ๊งและเลิกเลี้ยงเพิ่มขึ้น ซ้ำเติมจากช่วงปี 2564-2567 ที่ผู้เลี้ยงลดลงร้อยละ 21 จากภาวะขาดทุนสะสม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยว่า สหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตหมูอันดับ 3 และผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ด้วยกำลังผลิต 12.8 ล้านตันต่อปี ส่งออก 3.2 ล้านตัน หรือ 1 ใน 3 ของการค้าหมูโลก ขณะที่ไทยผลิตได้เพียง 1.6 ล้านตัน ใช้ในประเทศเป็นหลัก

สหรัฐฯ มีข้อได้เปรียบจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดและถั่วเหลือง ที่ผลิตในประเทศได้ในราคาถูก และใช้เทคโนโลยีฟาร์มทันสมัย ต่างจากไทยที่พึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าและมีฟาร์มรายย่อยแบบดั้งเดิมจำนวนมาก

ราคาเนื้อหมูสหรัฐฯ เฉลี่ยปี 2563-2567 อยู่ที่ 1.70 ดอลลาร์สหรัฐ/กก. หรือ 55 บาท ขณะที่หมูไทยราคา 2.30 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 75 บาท เท่ากับว่าแพงกว่าครึ่งต่อครึ่ง ทำให้หมูสหรัฐฯ มีแต้มต่อด้านราคาและปริมาณ แม้จำกัดการนำเข้าเฉพาะเครื่องในหมู สมาคมผู้เลี้ยงสุกรยังมองว่าเป็นปัญหา เพราะอาจกระทบความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรไทย

การนำเข้าหมูสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั้งพืชอาหารสัตว์ โรงชำแหละ และเขียงหมู รวมถึงความกังวลของผู้บริโภคที่อาจแยกไม่ออกระหว่างหมูไทยและหมูนำเข้า โดยเฉพาะความปลอดภัยจากสารเร่งเนื้อแดง ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะใช้เรื่องหมูเป็นเงื่อนไขเจรจาภาษีหรือไม่ แต่หากใช้ อาจสร้างความเสี่ยงต่อเกษตรกรและความเชื่อมั่นในสินค้าไทย

อ่านข่าวอื่น :

ชาวนาไทยกังวล ภาษีสหรัฐฯ 36% ฉุดราคา "ข้าวหอมมะลิ" ร่วง

รถมือสองยอดหด 28% สมาคมชี้ แบงก์เข้มงวด-รถ EV กระทบหนัก