เสวนา "วารสารศาสตร์ภายใต้ กม.ความมั่นคง" สื่อประกาศยึดจรรยาบรรณวิชาชีพ หวั่นมรดก คสช.จำกัดเสรีภาพสื่อในอนาคต

สังคม
16 ก.ค. 58
14:48
187
Logo Thai PBS
เสวนา "วารสารศาสตร์ภายใต้ กม.ความมั่นคง" สื่อประกาศยึดจรรยาบรรณวิชาชีพ หวั่นมรดก คสช.จำกัดเสรีภาพสื่อในอนาคต

วงเสวนาวารสารศาสตร์ภายใต้กฎหมายความมั่นคง ถอดบทเรียนกรณีการเสนอข่าวนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่ฝ่ายความมั่นคงร้องเรียนให้ กสทช. ตรวจสอบ โดยตัวแทนสภาวิชาชีพสื่อเสนอว่า ควรใช้แนวทางให้องค์กรสื่อสอบสวนด้านจริยธรรมกันเอง ขณะที่ผู้ร่วมเสวนาเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่านิยาม "ความมั่นคง" ของ คสช.กระทบต่อเสรีภาพของสื่อมวลชน

วันนี้ (16 ก.ค.2558) คณะทำงานแกนนำจริยธรรมไทยพีบีเอส ได้จัดงานเสวนาวิชาการหัวข้อ “3/97/103/37” : วารสารศาสตร์ภายใต้กฎหมายความมั่นคง ที่ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ อาคารศูนย์การเรียนรู้ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ดำเนินรายการโดยณัฏฐา โกมลวาทิน ได้มีการพูดคุยเรื่องผลกระทบต่อการทำงานของสื่อในสถานการณ์ปัจจุบันภายใต้ประกาศคำสั่ง คสช. 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 97/2557 ฉบับที่ 103/2557 และประกาศหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 รวมถึงมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.กสทช.ซึ่งมีกรณีล่าสุดที่คณะอนุกรรมการพิจารณาผังรายการและเนื้อหารายการ กสทช.อยู่ระหว่างกำลังพิจารณาว่าการเสนอข่าวความเคลื่อนไหวของนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ของไทยพีบีเอสขัดต่อมาตรา 37 ตามที่คณะทำงานติดตามสื่อในกองทัพบก ได้ร้องเรียนมาหรือไม่ 

นายภัทระ คำพิทักษ์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์และประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ระบุว่ากฎหมายที่คุมสื่อตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหารทั้ง 3 ฉบับ เป็นการควบคุมหลายชั้นเกินไป ควรเหลือแค่เพียงคำสั่งเดียว จุดนี้มีข้อกังวลว่าหาก คสช.ไม่อยู่ในอำนาจแล้ว แต่ประกาศคำสั่งเหล่านี้ยังคงอยู่อาจกลายเป็นเครื่องมือของคนที่ต้องการจำกัดเสรีภาพสื่อต่อไปได้

นายภัทระกล่าวเพิ่มเติมว่าประกาศและคำสั่ง คสช.เป็นอุปสรรคในการทำงานของสื่ออย่างแน่นอน แต่ว่าสามารถปรับและแก้ไขตามแต่ละกรณี

ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ยังแสดงความคิดเห็นถึงกรณีทีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงร้องเรียนให้ กสทช.ตรวจสอบการนำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวของนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2558 ด้วยว่ากรณีนี้ควรส่งใช้กลไกที่มีอยู่ในองค์กรวิชาชีพสื่อตรวจสอบกันเอง

"ถ้าสื่อทำตามจริยธรรมกำกับจะลดปัญหาได้เยอะ คือ มีความรอบด้าน ความสมดุล ปัญหาเกิดจากเรื่องการตีความเรื่องความมั่นคงในกรอบที่แคบลง ถ้าเราบอกว่าความมั่นคงของ คสช.เป็นของประเทศนี้ คิดว่าไม่ใช่ เห็นว่าเรื่องที่เกิดแก้ไขได้ อาจส่งกลับมาพิจารณาในคณะทำงานจริยธรรมก็ได้ในกรณีของไทยพีบีเอส ถ้า คสช.ฉลาดก็ไม่ควรผลักให้ไทยพีบีเอสไปอยู่ตรงข้าม" นายภัทระ ระบุ 

นายภัทระ ยังระบุว่ากรณีนี้ คสช.อาจใช้แนวทางตามประกาศฉบับที่ 103 ที่ระบุให้องค์กรวิชาชีพสื่อสอบสวนด้านจริยธรรมและมีการควบคุมกันเอง ไม่จำเป็นต้องใช้ มาตรา 37 ของ กสทช. และเห็นว่าการที่ คสช.เข้ามาในช่วงปีกว่าทำให้เห็นแล้วว่าเส้นของการทำงานสื่ออยู่ที่จุดใดจึงจะพอดี พร้อมระบุว่าสิ่งที่ควรทำคือการขับเคลื่อนเรื่องปฏิรูประบบสื่อ จัดระเบียบสังคมสื่อและวางกติกาใหม่ร่วมกันมากกว่า เช่น เรื่อง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล รวมทั้งเรื่องที่มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่สร้างองค์กรสื่อหน่วยใหม่ขึ้นมา ซึ่งเห็นว่าไม่จำเป็น

ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ระบุว่ากรณีที่ไทยพีบีเอสถูกเรียกสอบเรื่องการเสนอข่าวที่ขัดต่อมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.กสทช.นั้นเห็นว่าสามารถใช้กลไกของไทยพีบีเอสเองที่มี พ.ร.บ.สื่อสาธารณะ ของตัวเองในการพิจารณาเรื่องนี้ และเห็นว่ากรณีนี้ที่ฝ่ายความมั่นคงใช้วิธีการผ่านมาทาง กสทช.ในแง่หนึ่งเป็นผลดีกับสื่อมากกว่าที่ คสช.จะใช้ประกาศคำสั่งอื่นจัดการโดยตรง

"ก่อนรัฐประหาร กสทช.ก็จะพิจารณาโดยใช้ดุลพินิจของบอร์ด แต่พอหลังรัฐประหาร ดุลพินิจนี้ถูกกำกับด้วยนิยามความมั่นคงของรัฐอีกชั้นหนึ่ง ซึ่ง กสทช.อาจเป็นกันชนอีกชั้น และถ้าเข้าสู่กลไกของ กสทช.ก็ยังมีช่องที่สื่ออาจใช้ช่องทางของศาลปกครองในการปกป้องตัวเองได้ดีกว่าใช้ประกาศ คสช.ที่ 97/2557" น.ส.สุภิญญากล่าว

ขณะที่นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษา และผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ระบุว่าหลังรัฐประหารการทำงานของสื่อต้องระมัดระวังมากขึ้น ต้องเซนเซอร์ตัวเองหลายเรื่อง โจทย์ของการทำงานกลายเป็นต้องยึดเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก เป็นผลให้หลักการทำงานของสื่อในแง่ของการปกป้องประโยชน์สาธารณะถูกลดระดับลงไป นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่าการวิพากษ์วิจารณ์รัฐทำได้ยากขึ้น เช่น นโยบายต่างประเทศเรื่องการส่งชาวอุยเกอร์ไปจีนเพราะติดว่าเป็นเรื่องความมั่นคง

ส่วน ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล สื่อมวลชนอาวุโสและนักวิชาการรัฐศาสตร์ ระบุว่า คสช.ไม่มีความจำเป็นต้องเขียนกฎหมายขึ้นมาจำกัดสื่อมวลชนขึ้นมาหลายฉบับ เพราะเห็นว่าสื่อทำหน้าที่ตามวิชาชีพอยู่แล้ว และ คสช.ควรยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อได้ เพราะมีหน้าที่ในการเป็นรัฐบาลคือการสร้างความมั่นคงให้ประเทศ ไม่ใช้การสร้างความมั่นคงให้กับ คสช.เอง และเห็นว่าประกาศคำสั่งต่างๆ ของ คสช.ไม่สามารถกำกับควบคุมการใช้สื่อใหม่ของประชาชนได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง