กระแสดูหมิ่นเพศหญิงในวงการเพลงฮิปฮอป

Logo Thai PBS
กระแสดูหมิ่นเพศหญิงในวงการเพลงฮิปฮอป

เนื้อหาของบทเพลงที่ส่อไปในทางดูหมิ่นเพศหญิงของวงการเพลงฮิปฮอปมักถูกวิจารณ์อยู่เสมอและการผลิตซ้ำเพลงแนวนี้อยู่บ่อยครั้ง ยังเป็นการสร้างภาพจำผิดๆแก่ที่ผู้นำไปเผยแพร่

ไทเลอร์ เดอะ ครีเอเตอร์ นักร้องแร็ปเปอร์ชาวอเมริกัน ถูกกลุ่มสิทธิสตรีต่อต้านอย่างหนัก เมื่อมีแผนมาเปิดการแสดงที่ออสเตรเลีย เนื่องจากผลงานเพลงส่อไปในทางดูหมิ่นเพศหญิงอยู่เสมอ ทำให้กลุ่มสตรีกดดันรัฐบาลออสเตรเลียไม่ให้ออกวีซ่าให้เข้าประเทศ จนเจ้าตัวต้องประกาศยกเลิกการแสดงที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายน 2558

ปัญหาการใช้ถ้อยคำและเนื้อหาดูหมิ่นเพศหญิง เป็นสิ่งที่อยู่คู่วงการเพลงฮิปฮอปมานาน โดยผลสำรวจเนื้อเพลงแร็ประหว่างปี 1987 - 1993 พบเนื้อหาดูหมิ่นสตรีร้อยละ 22 ถึงร้อยละ 37 ทั้งการใช้คำหยาบคายเรียกผู้หญิง เสนอภาพสตรีเป็นเสมือนวัตถุทางเพศ สนับสนุนการทำความรุนแรงต่อเพศหญิง สร้างภาพให้ผู้หญิงเป็นคนไม่น่าไว้ใจ ไปจนถึงเห็นด้วยกับการค้าประเวณี

โดยนักวิเคราะห์มองว่า ปัจจัยดังกล่าวมาจากมุมมองของศิลปินที่มองว่าการดูหมิ่นผู้หญิงจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ความเป็นชายและทำให้แฟนเพลงยอมรับในฐานะแร็ปเปอร์ตัวจริง ทัศนคติดังกล่าวยังสะท้อนความเหลื่อมล้ำของสตรีที่อยู่ในชุมชนชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ซึ่งการยอมรับที่มีต่อเพลงแร็ปที่ดูหมิ่นผู้หญิงยิ่งทำให้มีการผลิตเพลงแนวนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง

หนึ่งในศิลปินที่ตกเป้าโจมตีประเด็นดังกล่าวบ่อยๆคือ เอ็มมิเน็ม โดยผลงานในอัลบั้มชุดที่ 3 จำนวน 11 เพลงจาก 18 เพลง ล้วนพูดถึงผู้หญิงในแง่ลบ ซึ่ง Medicine Man ผลงานล่าสุดร่วมกับ ดร. เดรย์ ถูกวิจารณ์จากกลุ่มสิทธิสตรีอย่างหนักเพราะเนื้อหาเอ่ยถึงการสร้างความพึงพอใจแก่ผู้หญิงผ่านการขืนใจและในปี 2557 เขาถูกตำหนิเรื่องการเขียนเพลงแนวเดียวกันนี้ในเพลง Vegas

เนื้อหาเพลงที่ดูหมิ่นเพศหญิงที่แพร่หลายไปในบางประเทศ เช่น เวทีแข่งขันของบรรดาแร็ปเปอร์ในเกาหลีใต้ รายการ Show Me the Money ก็ถูกวิจารณ์ว่าใช้เนื้อเพลงล่อแหลมเป็นจุดขาย โดยเฉพาะครั้งที่ ซุงมินโฮ ไอดอลวง Winner ร้องเพลงที่เปรียบเทียบท่านั่งขาหยั่งของผู้หญิงในเชิงสองแง่สองง่าม สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ชมจนเจ้าตัวต้องออกมาขอโทษ โดยคณะกรรมการมาตรฐานการสื่อสารเกาหลีใต้ได้สั่งปรับเงินรายการ จากความผิดเรื่องการนำเสนอเนื้อหาไม่เหมาะสมบ่อยครั้งตลอดฤดูกาลที่ผ่านมา

กระแสดูหมิ่นเพศหญิงในเพลงแร็ป ทำให้ค่ายเพลงบังคับศิลปินให้แต่งเพลงแนวนี้ออกมาเรื่อยๆ แม้แต่ศิลปินที่ไม่มีแนวคิดดังกล่าวก็ต้องแสร้งร้องเพลงดูหมิ่นเพศหญิงบนเวที แม้จะไม่เชื่อในสิ่งที่ตนเองร้องก็ตาม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง