ศาลจังหวัดภูเก็ตยกฟ้องกองทัพเรือฟ้องหมิ่นฯ บก.-ผู้สื่อข่าวเว็บไซด์ภูเก็ตหวาน

อาชญากรรม
1 ก.ย. 58
07:36
310
Logo Thai PBS
ศาลจังหวัดภูเก็ตยกฟ้องกองทัพเรือฟ้องหมิ่นฯ บก.-ผู้สื่อข่าวเว็บไซด์ภูเก็ตหวาน

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนรายงานผ่านทางเฟซบุ๊ก "iLaw" ว่า เมื่อเวลาประมาณ 09.15 น. วันนี้ (1 ก.ย.2558) ศาลจังหวัดภูเก็ตได้อ่านคำพิพากษาคดีที่กองทัพเรือยื่นฟ้องหมิ่นประมาท อลัน มอริสัน บรรณาธิการเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน ชาวออสเตรีเลีย และ ชุติมา สีดาเสถียร ผู้สื่อข่าวภูเก็ตหวาน ในความผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยศาลพิพากษายกฟ้อง

เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) รายงานว่า ในห้องพิจารณาคดี มีตัวแทนจากสถานทูตออสเตรเลีย องค์กรระหว่างประเทศ เช่น Human Right Watch และ International Commission of Jurist และผู้สื่อข่าวต่างประเทศ มาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย

ทั้งนี้ iLaw ระบุว่า คำพิพากษาของคดีนี้สามารถแยกได้เป็น 3 ประเด็น

1.ประเด็นอำนาจการฟ้องคดี ศาลเห็นว่ากองทัพเรือมีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ เพราะถ้อยคำตามฟ้องได้แก่ "Naval Forces" แม้จะไม่ได้หมายถึงกองทัพเรือซึ่งใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "Royal Thai Navy" แต่คำว่า "Naval Forces" หมายถึงกองกำลังทางน้ำ ซึ่งกองทัพเรือก็ถือเป็นกองกำลังทางน้ำ กองทัพเรือประเภทหนึ่ง ตัวอักษร "s" หลังคำว่า "Naval Force" ทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ว่าผู้เขียนพูดถึงกองกำลังทางน้ำหลายหน่วยงาน ซึ่งอาจรวมกองทัพเรือด้วย กองทัพเรือจึงมีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์คดีนี้

2. ประเด็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ข้อความตามฟ้องในคดีนี้เป็นข้อความที่จำเลยนำมาจากสำนักข่าวรอยเตอร์ส ซึ่งเป็นสำนักข่าวที่มีความน่าเชื่อถือ ได้รับการยอมรับและสามารถตรวจสอบได้ เชื่อว่าผู้สื่อข่าวรอยเตอร์สจะตรวจสอบข้อมูลว่าเป็นความจริงก่อนเผยแพร่ การที่จำเลยอ้างอิงข้อความมาจากรอยเตอร์ส ไม่ได้เขียนเอง จึงไม่ถือว่าเข้าข่ายการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

3. ประเด็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่ปรากฏว่าข้อความตามฟ้องที่จำเลยอ้างมาจากรอยเตอร์สเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ หรือเป็นข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหมวดความมั่นคง นอกจากนี้เจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็ไม่ได้มุ่งเอาผิดกับความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เพราะมีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 บัญญัติความผิดฐานนี้ไว้แล้ว

พิพากษายกฟ้อง

หลังศาลมีคำพิพากษา จำเลยทั้งสองแสดงความยินดีกับผลคำพิพากษา อลันกล่าวว่า เขารู้สึกดีมากและถือว่าวันนี้เป็นวันที่ดีวันหนึ่งสำหรับกระบวนการยุติธรรมไทย ขณะที่ชุติมากล่าวว่า คำพิพากษาคดีนี้แสดงให้เห็นว่า ศาลยึดหลักความจริงและเสรีภาพของสื่อ คำพิพากษาคดีนี้ จึงไม่เพียงเป็นผลดีกับจำเลยในคดีนี้หากแต่เป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ดีสำหรับคดีอื่นๆ ด้วย" เจ้าหน้าที่ iLaw รายงาน

"เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง คดีนี้จะเป็นคดีตัวอย่างว่าการฟ้องหมิ่นประมาทร่วมกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำร่วมกันได้เพราะผิดเจตนารมณ์ของกฎหมาย" น.ส.ชุติมากล่าวหลังฟังคำพิพากษา

ขณะที่ตัวแทนฝ่ายกฎหมายของกองทัพเรือระบุว่าจะไม่ยื่นอุทธรณ์เพราะใช้วิธีการประนีประนอมมาโดยตลอด แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของอัยการจังหวัดภูเก็ต

iLaw สรุปความเป็นมาของคดีนี้ไว้ว่า สำนักข่าวภูเก็ตหวานนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา เนื้อหาระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ทางการไทยเกี่ยวข้องในขบวนการ โดยอ้างอิงจากรายงานพิเศษของสำนักข่าวรอยเตอร์ส เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2556 ปรากฏชื่อผู้เขียน คือ อลัน มอริสัน และ ชุติมา สีดาเสถียร
 
ต่อมาในวันที่ 20 ก.ค.2556 ภูเก็ตหวานนำเสนอข่าวที่กองทัพเรือปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรงฮิงญา
 
3 เดือนต่อมา กองทัพเรือมอบอำนาจให้ น.อ. พัลลภ โกมโลทก แจ้งความดำเนินคดีกับบริษัท บิ๊ก ไอซ์แลนด์ มีเดีย บริษัทเจ้าของสำนักข่าวภูเก็ตหวาน และนักข่าวของภูเก็ตหวานคือ อลัน และชุติมา ในความผิดฐานหมิ่นประมาท และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ซึ่งระบุว่า “ผู้ใด .... (1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าท้ังหมดหรือบางส่วน  หรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”
 
17 เม.ย.2557 พนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งฟ้องจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทีมทนายความของอลันและชุติมายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้สลากออมสินมูลค่าคนละ 100,000 บาท ซึ่งเป็นทุนช่วยเหลือจากศูนย์กฎหมายและสิทธิชุมชนอันดามัน เนื่องจากทั้งคู่ไม่เตรียมเงินประกันไปเพราะไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการคดีดังกล่าว

ระหว่างคดียังคงอยู่ที่ศาลชั้นต้น นักข่าวทั้งสองยังคงทำหน้าที่รายงานข่าวและหาทางสู้คดี ชุติมาเล่าว่า เธอไปยื่นหนังสือต่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย รวมทั้งผู้มีอำนาจในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
 
คำตอบที่เธอได้รับหลังประนีประนอมกับกองทัพเรือผ่านคนกลางเพื่อให้กองทัพเรือถอนฟ้องคดี คือ ภูเก็ตหวานจะต้องขอโทษเพื่อให้กองทัพเรือถอนฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท แต่จะคงไว้แค่ข้อหากระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากเป็นความผิดต่อแผ่นดิน ผู้เสียหายไม่สามารถถอนฟ้องได้

14-16 ก.ค.2558 นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย โดยวันแรกเป็นการสืบพยานโจทก์ ส่วนวันที่สองและวันที่สามเป็นการสืบพยานจำเลย เป็นที่น่าสังเกตว่า ในวันสืบพยานจำเลย อัยการไม่มาตามนัดทั้ง 2 วัน จึงไม่มีการถามค้านจากฝ่ายโจทก์
 
15 ก.ค.2558 ชุติมา นักข่าวอาวุโสของภูเก็ตหวาน ขึ้นเบิกความในฐานะพยานต่อจากอลัน เธอยืนยันว่า เธอเป็นคนนำข้อความที่ถูกฟ้องจากรายงานของรอยเตอร์สมาอ้างอิงในบทความของเธอที่ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน แต่ตัวเธอไม่ใช่ผู้นำบทความดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ ก่อนการอ้างอิงข้อความที่ถูกฟ้อง เธอได้โทรศัพท์ตรวจสอบข้อมูลเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อข่าวจากหน่วยงานทั้งจากกองทัพเรือและกองบังคับการตำรวจน้ำแล้ว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง