“อยู่อย่างรู้เท่าทันและเข้าใจธรรมชาติ” ประสบการณ์ภัยธรรมชาติจากบ้านในถุ้ง นครศรีธรรมราช

2 ธ.ค. 54
17:37
32
Logo Thai PBS
“อยู่อย่างรู้เท่าทันและเข้าใจธรรมชาติ” ประสบการณ์ภัยธรรมชาติจากบ้านในถุ้ง นครศรีธรรมราช

ถึงแม้ว่าช่วงที่ผ่านมาทางภาคใต้ฝนเริ่มซาลงแล้ว นักข่าวพลเมืองเครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติ จังหวัดนครศรีธรรมราช  ได้ลงพื้นที่ไปสำรวจพูดคุยกับชาวบ้านชายหาดบ้านในถุ้ง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เจอกับเหตุการณ์คลื่นสูงซัดเข้าชายฝั่งช่วงน้ำทะเลหนุนในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พวกเขาใช้ประสบการณ์จากที่เคยเกิดในพื้นที่ มาดูแลและป้องกันทรัพย์สินของตัวเองให้ปลอดภัยจากภัยธรรมชาติในครั้งนี้
 

        
พีระพัฒน์  เอี่ยมสกุลเวช  เจ้าของร้านอาหารริมชายหาดบ้านในถุ้ง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา  บ้านในถุ้ง บ้านบางใบไม้ ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เจอกับเหตุการณ์คลื่นสูงซัดเข้าชายฝั่งในช่วงน้ำทะเลหนุนจนได้รับความเสียหาย  ทำให้ร้านค้าและชุมชนได้รับความเสียหาย

        
 “สภาวะคนก็ตกใจนะครับ ฝนตกด้วย คลื่นมันแรง แล้วที่หนีตายไม่ใช่อะไรหรอกครับเพราะเหมือนกับว่ามันไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ น้ำจะใหญ่แค่ไหนที่ผ่านๆมา คนเฒ่าคนแก่เล่าว่าไม่เคยเจอขนาดนี้ที่คลื่นจะใหญ่ขึ้นถนน ซัดข้ามถนนมันก็เอาแน่นอนไม่ได้กับธรรมชาติ เหมือนฝั่งนู้นก็มีการสร้างเขื่อนกั้น แต่ว่าทางร้านมันจะเป็นช่องว่างระหว่างแนวเขื่อนที่ราชการมาทำไว้ คลื่นเลยไม่มีการชะลอตัวมาซัดกับแนวเขื่อนที่ทำเอาไว้ ตรงนี้ก็เลยได้รับผลกระทบเต็มๆเลย เวลาคลื่นมาก็จะซัดมาค่อนข้างลูกใหญ่เลย”

         
ทั้งนี้จากการลงพื้นที่สำรวจหลังเหตุการณ์คลื่นสูงซัดฝั่งที่เกิดขึ้น พบว่าชาวชุมชนบ้านในถุ้งและบ้านบางใบไม้ยังคงใช้ชีวิตตามปกติ แต่มีชาวบ้านบางส่วนเกิดความกังวล   แต่สำหรับบังอดุลย์ โต๊ะหมาด ที่ทำประมงพื้นบ้านในถุ้งมากว่า 40 ปี กลับมองว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตามปกติในช่วงฤดูมรสุม จึงมีการเตรียมความพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น โดยการสังเกตสภาพอากาศและความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่อย่างใกล้ชิด   พร้อมกับพูดคุยและเตรียมความพร้อมในชุมชน
            
       
 “ส่วนมากถ้ารุ่นๆลุงจะรู้ก่อนนะ สังเกตจากบนฟ้ามั่ง ในน้ำมั่ง หรือแม้แต่ปลาเองก็ยังแบบว่ายังต้องเป็นที่สังเกตด้วย สิ่งแรกก็คือ น้ำมันจะเชี่ยวก่อน น้ำในทะเลจะพุ่งแรง พอหลังจากนั้นก็จะมีคลื่น พอมีคลื่นหลังจากนั้นก็จะมีลมตามมาแล้ว เมฆมันจะเชี่ยวแล้วเห็นไหม  พอถึงฤดูมรสุม มันจะวิ่งแล้ว ปลานี่มันจะไม่อยู่เป็นที่เป็นทางแล้ว ตอนแรกถ้าเงียบดี สงบดี มันจะจับกลุ่มกัน พอมีคลื่นลมมรสุมมันจะไม่จับกลุ่มกันแล้ว แต่มันจะมาแล้ว แรงไม่แรงไอ้เรื่องเกิดพายุมันจะเชี่ยวอีก มันจะยิ่งจัดไป ต้องเตรียมพร้อมแล้ว   ส่วนมากก็มันมีสภากาแฟ ร้านน้ำชาเขา จะไปแรวมตัวกัน จะพูดกันเลยวันนี้น้ำมันเชี่ยว แสดงว่ามันจะมีอาการอีกแล้ว พอเรารู้ก็ เราก็เตรียมพร้อม เราเก็บเลย ก็เป็นอวนที่อยู่ในน้ำที่กำลังจะปล่อยไป หรือพวกที่ทำท่าจะปล่อยเขาก็ไม่ปล่อยแล้ว” บังอดุลย์บอก  

        
การเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น อย่างรู้เท่าทันและเข้าใจธรรมชาติของคนในพื้นที่ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความกังวลให้สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ในทุกสถานการณ์
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง