รื้อถอนบ้านชุมชนวัดกัลยาณ์ 12 ปี ความขัดแย้งชุมชน-วัด

สังคม
10 ก.ย. 58
16:22
772
Logo Thai PBS
รื้อถอนบ้านชุมชนวัดกัลยาณ์ 12 ปี ความขัดแย้งชุมชน-วัด

เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีเข้ารื้อถอนบ้านประธานชุมชนวัดกัลยาณ์เป็นหลังแรกในวันนี้ (10 ก.ย.2558) หลังศาลฎีกามีคำพิพากษาให้วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหารชนะคดีขอพื้นที่คืนให้วัด เป็นการสิ้นสุดการต่อสู้ระหว่างวัดกับชุมชนที่มีมานานกว่า 12 ปี

วันนี้ (10 ก.ย.2558) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสลงพื้นที่สำรวจบ้านของนายชัยสิทธิ์ กิตติวณิชพันธุ์ ประธานชุมชนวัดกัลยาณ์ ที่อยู่อาศัยมานานกว่า 60 ปี ซึ่งเป็นบ้านหลังแรกของชุมชนที่ถูกรื้อถอนตามคำพิพากษาของศาลฎีกาเมื่อปี 2551-2552 หลังจากที่วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ยื่นฟ้องต่อศาลขอพื้นที่วัดคืน และเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดี เตรียมรื้อถอนบ้านอีกว่า 30 หลังคาเรือนภายในชุมชนแห่งนี้ โดยวัดมีโครงการปรับภูมิทัศน์เพื่อความสวยงาม

แม้ก่อนหน้านี้จะมีการปิดหมายศาลภายในชุมชน แต่ชาวบ้านยังมีความหวังและพยายามเจรจากับทางวัดเพื่อขอยืดหยุ่นเวลา แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน จนถึงวันนี้ที่มีการรื้อถอนบ้านเรือน ทำให้ชาวชุมชนแห่งนี้รู้สึกเป็นกังวลกับอนาคตเพราะยังไม่สามารถหาที่พักอาศัยใหม่ได้ทัน

นายสมนึก แสวงบุญ ชาวชุมชนวัดกัลยาณ์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสว่ารู้สึกเครียด และชาวชุมชนส่วนมากยังไม่มีที่อยู่ รวมถึงทะเบียนราษฎร์ เห็นว่าการถูกไร่ลื้อเช่นนี้เจ้าบ้านก็อาจจะไม่รับเข้าไปอยู่ในทะเบียนราษฎร์ ขณะที่นายวิชัย เขียวจู ชาวชุมชน บอกเช่นกันว่าไม่ได้มีการบอกกล่าวล่วงหน้าว่าจะมีการเข้ารื้อถอน จู่ๆ ก็มีการจู่โจมตั้งแต่วานนี้

การเข้ามาดำเนินการรื้อถอนบ้านของเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีทำให้นายชัยสิทธิ์ กิตติวณิชพันธุ์ ประธานชุมชนวัดกัลยาณ์ และทายาทผู้สร้างวัดกัลยาณมิตรฯ ยื่นหนังสือต่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และกรรมการมหาเถรสมาคม เพื่อขอให้พิจารณาช่วยเหลือและสั่งย้ายเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตรฯ ออกจากพื้นที่ ซึ่งนายชยพล พงษ์สีดา รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่าต้องศึกษารายละเอียดและกลั่นกรองข้อเท็จจริง ก่อนเสนอเรื่องต่อเลขานุการสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เพื่อนำเสนอผู้แทน ว่าจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร

จากการสอบถามนายพรชัย จงสุขศรี  ตัวแทนวัดกัลยาณมิตรยืนยันว่าได้ชี้แจงและให้เวลาชาวชุมชน เตรียมความพร้อมในการย้ายออกจากพื้นที่มานานแล้ว การรื้อถอนบ้านเรือนครั้งนี้เป็นไปตามกฎหมาย

"ได้แจ้งไปกับชุมชนว่าให้เตรียมเอกสาร ทำรายชื่อให้ชัดเจนว่าเป็นเจ้าของที่แท้จริงทางวัดจึงจะเจรจาด้วย เพราะว่าที่ผ่านมามีคนจำนวนมากที่มาอยู่ที่นี้ โดยที่วัดไม่รู้ว่าใครเป็นใครเข้ามาเกี่ยวข้อง พอเจ้าพนักงานเข้ามาดำเนินการก็เข้ามาขัดขวางเจ้าหน้าที่" นายพรชัย ระบุ

ความขัดแย้งระหว่างชุมชนและวัด เริ่มขึ้นในปี 2546 หลังเปลี่ยนแปลงเจ้าอาวาสวัด และรื้อถอนโบราณสถานภายในวัดโดยไม่ขออนุญาตจากกรมศิลปากร จำนวน 22 รายการ โดยชาวบ้านไม่เห็นด้วยและฟ้องต่อศาลปกครอง จนมีคำสั่งให้กรมศิลปากรบังคับใช้กฎหมายโบราณสถานโบราณวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปี 2504 (ฉบับที่ 2) ปี 2535 โดยให้รื้อถอนอาคารศาลารายหลังใหม่ที่ทางวัดสร้างขึ้นทับโบราณสถานที่ถูกทุบทิ้งไปก่อนหน้านี้ ขณะที่ทางวัดฟ้องต่อศาลขอพื้นที่วัดคืนและชนะคดี เป็นเหตุให้มีการรื้อถอนบ้านเรือนในชุมชนแห่งนี้หลังต่อสู้กันมานานถึง 12 ปี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง