"อยากเห็นเสียงที่แตกต่าง" เสียงจากคนหนุ่มสาวเมียนมา ความหวังในการเลือกตั้ง

ต่างประเทศ
5 พ.ย. 58
14:57
84
Logo Thai PBS
"อยากเห็นเสียงที่แตกต่าง" เสียงจากคนหนุ่มสาวเมียนมา ความหวังในการเลือกตั้ง

คนรุ่นใหม่เมียนมา อาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้ง เผยเลือกตั้งครั้งนี้ต้องการเห็นความเห็นที่แตกต่างที่จะเปลี่ยนผ่านประเทศเป็นประชาธิปไตย ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจในย่างกุ้ง ขณะที่วันนี้ออง ซาน ซูจี แถลงข่าวครั้งใหญ่ที่บ้านพักในย่างกุ้ง ย้ำพร้อมบริหารประเทศเพื่อความปรองดอง

วันนี้ (5 พ.ย.2558) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่าผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวทั่วโลกรวมตัวกันหลายร้อยคนที่หน้าบ้านพักของนางอองซาน ซู จี พร้อมกันในช่วงสายวันนี้ที่นครย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เพื่อรับฟังแนวทางของพรรค NLD กับการเลือกตั้ง ซู จี ระบุว่าตลอดการหาเสียงในช่วง 2 เดือน ได้เห็นคนเมียนมามีความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ช่วงหนึ่งของการตอบคำถามสื่อว่าเชื่อมั่นแค่ไหนที่การเลือกตั้งจะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง ซู จี ระบุว่าขณะนี้เป็นช่วงเริ่มต้นของประชาธิปไตย คงจะต้องทำงานกันอีกนานมาก แต่จะต้องเริ่มต้นที่การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมก่อน ขณะที่นายโซ วิน ผู้สื่อข่าวอาวุโสบีบีซี แผนกภาษาเมียนมา ระบุว่าที่ผ่านมาในการเลือกตั้งปี 1990 ปี 2010 และปี 2012 คนเมียนมารู้สึกว่าผู้นำไม่ได้มาจากคนที่ตนเลือกจริงๆ ครั้งนี้จึงสำคัญมาก

นับตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2010 พรรค USDP ซึ่งเป็นพรรคที่มีกองทัพหนุนหลัง ได้รับเลือกให้บริหารประเทศ รัฐบาลพยายามจะระบุว่าประชาชนมีสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ได้รับเงินและมีความเป็นอยู่ดีขึ้น อย่างเช่นนักศึกษาจบใหม่อาจได้รับเงินเดือนสูงถึง 14,000 บาท จากโอกาสที่ไม่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เพราะว่าเริ่มเห็นบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในเมียนมามากยิ่งขึ้น ที่นครย่างกุ้ง ได้เห็นการลงทุนเกิดขึ้นมาก ตึกสูง พร้อมๆกับรถราที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหากเทียบกับเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่สำหรับประชาชนที่ตื่นตัวในเรื่องประชาธิปไตยก็ระบุว่าต้องการไปใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง เนื่องจากต้องการเห็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมที่ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่มากขึ้น

ด้านบรรยากาศที่หน่วยของอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ที่อาสาเป็นคนรุ่นหนุ่มสาว ซึ่งมีภารกิจสังเกตการณ์เลือกตั้งและให้ความรู้กับผู้สมัครคนรุ่นหนุ่มสาว ทั้งในย่างกุ้งและเขตของกลุ่มชาติพันธุ์ อาสาคนหนึ่ง เซ หลิ่น มน นักศึกษาวัย 20 ปี กรรมการสภาเยาวชนแห่งชาติ เมียนมา แสดงความเห็นว่าคนรุ่นใหม่ของเมียนมาตื่นตัวและอยากเห็นเสียงที่แตกต่างเพื่อนำความเปลี่ยนแปลง

การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งประมาณ 33 ล้านคน คนรุ่น 18-35 ปี อาจจะสูงถึงเกือบร้อยละ 8  และอาจจะเป็นกลุ่มหนึ่งที่ช่วยกำหนดอนาคตของเมียนมา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง