ผศ.ธรณ์ แนะอุทยานฯ หมู่เกาะพีพี ยกเลิกดำน้ำแบบ Try Dive

Logo Thai PBS
ผศ.ธรณ์ แนะอุทยานฯ หมู่เกาะพีพี ยกเลิกดำน้ำแบบ Try Dive

รองคณบดีคณะประมง มก. เสนอ อุทยานฯ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ห้ามมีกิจกรรมดำน้ำแบบ Try Dive ในโปรแกรมท่องเที่ยวทางทะเล เหตุเสี่ยงทำปะการังเสียหายหรือตายไม่แพ้การดำน้ำแบบ Sea Walker ชี้ดำน้ำ Scuba Diving ดีที่สุด

จากกรณี นายศรายุทธ ตันเถียร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ มีคำสั่งให้ผู้ประกอบการเคลื่อนย้ายแพเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่จอดแช่นาน 3 ปี จนทำให้ปะการังตายเพราะถูกบดบังแสงแดดไม่ได้สังเคราะห์แสง ออกจากอ่าวต้นไทรภายในวันนี้ (5 พ.ย. 2558) ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะบังคับใช้กฏหมายทันที หลัง ผศ. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ (มก.) พาลงพื้นที่สำรวจที่อ่าวต้านไทร เกาะพีพี จ.กระบี่ และพบกิจกรรมดำน้ำ Try Dive เลี่ยงกฎหมาย ที่สร้างความเสียหายให้แนวปะการัง วานนี้ (4 พ.ย. 2558)

วันนี้ (5 พ.ย. 2258) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าล่าสุด ผศ.ธรณ์ เสนอให้อุทยานฯ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ยกเลิกกิจกรรมดำน้ำแบบ Try Dive เพราะตรวจสอบพบสภาพปะการังตายเนื่องจากถูกนักท่องเที่ยวดำน้ำแบบ Try Dive เหยียบ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มว่า ก่อนหน้านี้ รายการเปิดปม สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสนำเสนอประเด็นดังกล่าว โดยพบว่าการดำน้ำแบบ Try dive ที่เกาะพีพี เริ่มทำมาในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา สนนราคาต่อครั้ง 800-1,000 บาท โดยมีไกด์ชาวต่างชาติสอนวิธีการดำน้ำเพียง 5-10นาทีโดยไกด์ ทั้งนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่าสัตว์ทะเลหรือปะการังที่ผู้ประกอบการจับมาให้นักท่องเที่ยวดูใกล้ๆ เพื่อถ่ายภาพ อาจนำมาจากที่อื่นและจัดฉากไว้ เพราะปะการังส่วนใหญ่ในพื้นที่ตายหมดแล้ว

ผู้สื่อข่าวยังอธิบายถึงวิธีการดำน้ำ 3 รูปแบบ ที่ส่งผลดีและผลเสียต่อแนวประการังว่า หากเป็นการดำน้ำแบบ Sea Walker คือมีเรือลอยลำและต่อสายออกซิเจนลงมาที่หมวกเหล็กที่มีน้ำหนักมากเพื่อให้ตัวจมลงใต้น้ำ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถหายใจทางจมูกได้ตามปกติ เนื่องจากออกซิเจนดันไม่ให้น้ำเข้ามา ลักษณะคล้ายคนทำอาชีพดำน้ำหาของเก่า ซึ่งวิธีนี้นักท่องเที่ยวไม่ต้องผ่านการฝึกฝนอะไรสามารถดำได้ทันที แต่การเดินใต้น้ำแบบนี้เสี่ยงต่อการเตะปะการัง อุทยานฯ ทางทะเลมีคำสั่งห้ามโดยเด็ดขาด

ส่วนการดำน้ำแบบ Try Dive คือการดำน้ำแบบไม่ได้ฝึกฝนจริงจัง ซึ่งเป็นรูปแบบการดำน้ำในทะเลแบบใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย โดยเปลี่ยนเป็นใส่ถังออกซิเจนพ่วงด้วยน้ำหนักตะกั่วให้ตัวจมและใส่รองเท้ายางหรือตีนกบเดิน แต่ไม่ได้ผ่านการฝึกฝนการทรงตัว ซึ่งเสี่ยงต่อการเดินเตะปะการังเสียหายเช่นกัน

ขณะที่วิธีการดำน้ำที่ถูกต้องคือ Scuba Diving ที่นักดำน้ำต้องทรงตัวขนานไปกับแนวปะการังไม่ลงไปเดิน และมีกฏเหล็กสำหรับผู้ที่ผ่านการฝึกฝนว่าห้ามจับต้องอะไรใต้ท้องทะเลทั้งสิ้น ซึ่งการดำลักษณะนี้ได้ต้องผ่านการฝึกฝนอย่างน้อย 3-6 เดือน
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง