กรมชลฯ ยัน "น้ำเต็มเขื่อน" จัดการได้ทันเวลา น้ำไม่ท่วมแน่นอน

สังคม
26 ม.ค. 55
15:18
10
Logo Thai PBS
กรมชลฯ ยัน "น้ำเต็มเขื่อน" จัดการได้ทันเวลา น้ำไม่ท่วมแน่นอน

แม้เขื่อนส่วนใหญ่ทั่วประเทศจะยังมีน้ำมากเป็นประวัติการณ์ ทั้งๆ ที่อยู่ในฤดูแล้ง แต่กรมชลประทานยืนยันว่า มีแผนการบริหารจัดการน้ำที่จะสามารถระบายน้ำออกได้ทันเวลา และจะไม่ทำให้เกิดน้ำท่วมหนักเหมือนปีที่ผ่านมา

นายณรงค์ ไทยประยูร ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล กล่าวว่า วันนี้ (26 ม.ค.) เป็นวันแรกที่เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เพิ่มปริมาณการระบายน้ำจากวันละ 39 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นวันละ 44 ล้านลูกบาศก์เมตร เพราะขณะนี้ยังมีน้ำในเขื่อนอยู่ที่ร้อยละ 83 ขณะที่เขื่อนภูมิพล อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ที่วันนี้ (26 ม.ค.) ยังคงมีน้ำมากถึงร้อยละ 85 ทำให้เขื่อนต้องเร่งระบายน้ำกว่า 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อรองรับน้ำใหม่ที่จะไหลเข้าเขื่อนในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม

ขณะที่นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ยอมรับว่า ปีนี้เป็นปีที่มีน้ำเต็มเขื่อนมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน กรมชลประทานจึงใช้วิธีการบริหารจัดการน้ำโดยจะเร่งระบายน้ำออก ซึ่งคาดว่าเมื่อสิ้นสุดฤดูแล้งจะมีน้ำมากกว่าค่าปกติร้อยละ 10 แต่ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายสนับสนุนให้เกษตรกรโดยเฉพาะในที่ราบลุ่มภาคกลางทำนาปีละ 2 ครั้ง โดยให้ทำนาปีเร็วขึ้น และต้องเก็บเกี่ยวให้เสร็จภายในเดือนกันยายน จึงทำให้ขณะนี้จะต้องมีการใช้น้ำมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อถึงเดือนสิงหาคม รองอธิบดีกรมชลประทานเชื่อมั่นว่า ระดับน้ำในเขื่อนทุกเขื่อนจะลดต่ำกว่าปีที่แล้ว แต่เวลานี้ยังมีอุปสรรคหลายอย่างที่ทำให้ยังระบายน้ำไม่ได้เต็มที่

ด้านปัญหาน้ำค้างทุ่งในอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี และอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ทำให้กรมชลประทานต้องชะลอการระบายน้ำบางส่วน เพราะต้องใช้เครื่องสูบน้ำออก และต้องลดระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยาให้ต่ำลง ประกอบกับขณะนี้เกษตรกรในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนยังคงใช้น้ำค้างทุ่งเดิมเพื่อการเพาะปลูก จึงยังไม่สามารถระบายน้ำได้เต็มที่เช่นกัน ขณะที่คันกั้นน้ำ และประตูน้ำหลายแห่ง รวมทั้งประตูน้ำบางโฉมศรีที่ยังคงชำรุดอยู่ ก็ทำให้ต้องลดการระบายลงครึ่งหนึ่ง เช่น คลองชัยนาท-อยุธยา เพื่อให้สามารถซ่อมแซมได้
 
ขณะนี้กรมชลประทานกำลังจะเสนอแผนการระบายน้ำออกจากเขื่อนให้รัฐบาลตัดสินใจ โดยใช้สถิติน้ำท่วมในปี 2554 ที่เป็นปีที่น้ำท่วมหนัก กับปี 2552 ที่น้ำแล้ง มาประเมินเป็นระดับน้ำที่จะระบายออกมาขณะนี้ โดยเส้นกราฟที่เห็นเป็นเส้นประ 3 เส้น คือแผนการระบายน้ำของปีนี้ ซึ่งรัฐบาลจะต้องตัดสินใจว่า ต้องการให้เดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ใด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง