เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมฯ เรียกร้องรัฐบาลให้จัดตั้งกองทุนสตรีเพื่อผู้หญิง

สังคม
30 ม.ค. 55
03:33
14
Logo Thai PBS
เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมฯ เรียกร้องรัฐบาลให้จัดตั้งกองทุนสตรีเพื่อผู้หญิง

ที่อยู่ในภาวะยากลำบาก ขาดโอกาส ไม่ใช่ “กองทุนประชานิยม” หรือ “กองทุนเงินกู้”

*** อ่านข้อเสนอในรายไฟล์ Word **

มื่อเร็วๆ นี้ ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการฯ: เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย เครือข่ายองค์กรสตรีภาคประชาชนที่มีองค์กรภาคีสมาชิกมากกว่า ๘๐ องค์กรทั่วประเทศ ร่วมกับ คณะกรรมการเครือข่ายพลังสตรีเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาสตรีแห่งชาติฯ สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยฯ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ มูลนิธิเพื่อนหญิงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกันจัดงานเวทีสาธารณะและการแถลงข่าว “เสียงของผู้หญิงต่อ "กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี”  และแถลงผลการจัดเวทีว่า  “กองทุนสตรี” เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยให้สตรีกลุ่มที่ต้องการการได้รับการส่งเสริมศักยภาพ พัฒนาบทบาทและคุณภาพชีวิตเพื่อให้ได้รับโอกาสทัดเทียมกับเพื่อนผู้หญิงในสังคม ให้หลุดพ้นจากวงจร “โง่ จน เจ็บ” โดยเร็ว “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี“ แต่มีข้อกังวลว่ารัฐบาลจะผลักดันให้การจัดตั้งกองทุนสตรีเป็นไปเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแนวนโยบาย “ประชานิยม” ของพรรคเพื่อไทย

ดังนั้นเครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมฯ และองค์กรภาคีเครือข่ายจึงขอให้รัฐบาลได้พิจารณาว่า การจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาบทบาทและคุณภาพชีวิตของสตรีจะต้อง มิใช่กองทุนที่ตั้งขึ้นเพียงเพื่อการหาคะแนนเสียง (เพื่อให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง) มิใช่กองทุนต่างตอบแทน (คะแนนเสียงที่ได้รับ)  มิใช่กองทุนของสตรีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มิใช่กองทุนกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายประชานิยม  มิใช่กองทุนที่โยนลงไปในหมู่สตรีเพียงเพื่อให้เกิดความแตกแยก แบ่งพวกแบ่งเหล่า แบ่งเขาแบ่งเธอ และแน่นอนว่าย่อมมิใช่ “กองทุน” ที่ใช้เงินภาษีจากประชาชนไทย (ที่จำนวนมากกว่าครึ่งของประเทศเป็นผู้หญิง) ที่ถูกนำมาใช้เพียงเพื่อทำให้ผู้หญิงอ่อนแอลง พึ่งพิงอำนาจ “เงินตราและวัตถุ” มากขึ้น และ จมลงสู่กอง “หนี้กองทุน” ที่ไม่มีวันจะชดใช้ได้หมด!!!

ทั้งนี้ เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมฯ เห็นว่า ผู้หญิงไทยจำนวนมากยังยากจน และต้องตกอยู่ในภาวะยากลำบากในการแบกรับภาระในครัวเรือน การถูกเลือกปฏิบัติในการได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพในเกือบทุกๆ ด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา ศาสนา ประเพณีสังคมและวัฒนธรรม ผู้หญิงไทยจำนวนมากยังเป็นทั้ง “ผู้ถูกหลงลืม” และ “เหยื่อ” ของการพัฒนาไปข้างหน้าของสังคมโดยรวม โดยอ้างสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผย ผลเบื้องต้นสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2553 ว่า ประเทศไทยมีจำนวนประชากร ณ วันที่ 1 กันยายน 2553 จำนวน 65.9 ล้านคน เป็นประชากรหญิง 33.6 ล้านคน และเป็นประชากรชาย  32.3 ล้านคน ประชากรหญิงมากกว่าประชากรชายถึง 1.1 ล้านคน ในขณะที่ผู้หญิงจำนวนมากถึง 18.6 ล้านคนอยู่นอกเขตเทศบาลหรืออยู่ในภาคชนบท หรือเกือบร้อยละ 55 ของประชากรหญิงทั่วประเทศอยู่ในภาคชนบท  นอกจากนั้น  ข้อมูลจากการสำรวจข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้านของกรมการพัฒนาชุมชน ชี้ว่าในปี พ.ศ. 2552-2553ประชากรหญิงในภาคชนบทที่เป็นแรงงานที่มีงานทำมีเพียงมี 16 ล้านคน และเป็นหญิงที่มีรายได้น้อยถึงเกือบ 6 ล้านคน โดยในกลุ่มที่มีรายได้น้อยนี้มีจำนวนถึงเกือบ 4 ล้านคนรับจ้างทำงานอิสระ ที่สมควรได้รับการส่งเสริมบทบาทและพัฒนาคุณภาพชีวิต

เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมฯ เสนอเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนสตรีเพื่อผู้หญิง 5 ข้อ

1.ในฐานะที่การจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยให้สตรีที่อยู่ในภาวะยากลำบากและขาดโอกาสอย่างยิ่ง ได้รับการส่งเสริมศักยภาพ พัฒนาบทบาทและคุณภาพชีวิตเพื่อให้ได้รับโอกาสทัดเทียมกับเพื่อนผู้หญิงในสังคม ให้หลุดพ้นจากวงจร “โง่ จน เจ็บ” ได้โดยเร็ว เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทยจึงเห็นด้วยและสนับสนุน

2.กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่รัฐบาลจะจัดตั้งขึ้นจึงต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมโอกาสและบทบาทของสตรีเพื่อความเสมอภาคและความเป็นธรรม และ พัฒนาคุณภาพชีวิตของสตรีที่อยู่ในภาวะยากลำบากและขาดโอกาสอย่างยิ่งเท่านั้น มิใช่กองทุนเพื่อหวังผลในการหาเสียงหรือหวังผลได้ทางการเมือง หรือเป็นไปเพื่อการปล่อยเงินกู้หรือเพื่อส่งเสริมนโยบายประชานิยม

3.การบริหารจัดการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี  จะต้องบริหารโดยให้มีคณะกรรมการที่มีตัวแทนทุกภาคส่วน ประกอบด้วย เครือข่ายองค์กรสตรีภาคประชาชน เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ สื่อมวลชนและองค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบทบาทสตรีและความเสมอภาคหญิงชายเป็นกรรมการในสัดส่วนที่ได้สมดุลกันของภาคส่วนต่างๆ

4.การบริหารการใช้เงินของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีต้องบริหารอยู่บนหลักการของการกระจายอำนาจ  โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยมีกลไกการกำกับดูแลที่มีผู้แทนเครือข่ายองค์กรสตรีภาคประชาชน เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ สื่อมวลชนและองค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบทบาทสตรีและความเสมอภาคหญิงชายเป็นกรรมการในสัดส่วนที่ได้สมดุลกันของภาคส่วนต่างๆ

5.เพื่อให้เกิดการพัฒนาบทบาทสตรีอย่างยั่งยืน รัฐบาลต้องเร่งรัดให้ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ (ฉบับประชาชน) และร่าง พ.ร.บ.  กองทุนส่งเสริมการพัฒนาบทบาทและคุณภาพชีวิตสตรีแห่งชาติเป็นกฎหมายภายใน ๙๐ วัน  นับแต่เมื่อรัฐบาลได้ประกาศจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแล้ว
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง