IMF เพิ่ม "หยวน" เป็นเงินสกุลหลักของโลก ยืนยันถึงบทบาทจีนบนเวทีการค้า-การลงทุน

เศรษฐกิจ
1 ธ.ค. 58
08:16
1,255
Logo Thai PBS
IMF เพิ่ม "หยวน" เป็นเงินสกุลหลักของโลก ยืนยันถึงบทบาทจีนบนเวทีการค้า-การลงทุน

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประกาศให้สกุลเงินหยวนของจีนเป็นสกุลเงินหลักของโลก เพื่อยืนยันบทบาทของสกุลเงินสัญชาติจีนบนเวทีการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ มีผลเดือน ต.ค.ปี 2559

วันนี้ (1 ธ.ค.2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประกาศเรื่องการเพิ่มเงินสกุลหยวนของจีนเข้าเป็น 1 ใน 5 เงินสกุลหลักของโลกเมื่อวันที่ 30 พ.ย. มีผลให้เงินหยวนขึ้นมาเป็นสกุลเงินกลางของ IMF ที่กำหนดให้สมาชิกใช้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (SDR-Special Drawing Rights) โดยจะมีผลในเดือนตุลาคม 2559 ซึ่งส่งผลให้เงินหยวนได้รับการปรับยกสถานะในเวทีการเงินโลกให้เทียบเท่ากับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษ เงินยูโร และเงินเยนของญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในตะกร้าเงินอยู่ก่อนแล้วนั้น

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้านเสถียรภาพการเงิน กล่าวถึงกรณีนี้ว่าเป็นการยืนยันบทบาทของจีนและบทบาทของเงินหยวนในเวทีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ทำให้มีการใช้อย่างแพร่หลายและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

ทั้งนี้ ธปท.เริ่มทยอยลงทุนในพันธบัตรสกุลเงินหยวนมาตั้งแต่ปี 2553 เพื่อประโยชน์ในการกระจายความเสี่ยงของการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้เงินหยวนเป็นทางเลือกในการชำระเงินสำหรับการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและจีนมาอย่างต่อเนื่อง  ล่าสุด ธปท.ได้มีการต่ออายุความตกลง BSA (Bilateral Swap Arrangement) กับจีน ในวงเงิน 70 พันล้านหยวน หรือประมาณ 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะเพิ่มความมั่นใจในการเข้าถึงสภาพคล่องเงินหยวนหากเป็นที่ต้องการของระบบการเงินไทย ขณะที่จีนได้แต่งตั้งธนาคาร ICBC (Industrial and Commercial Bank of China (Thai)) เป็นธนาคารเพื่อการชำระดุลเงินหยวนในประเทศไทยเพื่อสนับสนุนการบริหารสภาพคล่องเงินหยวนอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

คาดว่าจากนี้ไปความสนใจในการใช้เงินหยวนเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศและเพื่อการลงทุนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามความสะดวกคล่องตัวที่จะเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายการควบคุมด้านเงินทุนของทางการจีนตามลำดับ และความคุ้นเคยของผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

สำหรับผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยอาจจะไม่มากนัก เนื่องจากนักลงทุนมีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว อย่างไรก็ดีนักลงทุนอาจมีการปรับสัดส่วนการลงทุนตามสกุล SDR แต่คาดว่าจะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป หากมองในภาพรวมต่อเศรษฐกิจไทยนั้น คาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์ในเชิงการค้าและการลงทุนจากการที่จะมีการใช้เงินหยวนอย่างแพร่หลายขึ้นในระยะต่อไป

ส่วนความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางจีนหลังมีการประกาศจาก IMF นายยี่ กัง รองผู้ว่าการธนาคารกลางจีน ระบุว่าจีนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับลดค่าเงินหยวนและจะรักษาค่าเงินให้อยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจจีนยังคงขยายตัวได้ดีและทุนสำรองเงินตราต่างประเทศยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก

ด้านนักวิเคราะห์การเงินตั้งข้อสังเกตว่าความเคลื่อนไหวของไอเอ็มเอฟในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงชัยชนะในเชิงสัญลักษณ์ของจีน แต่จีนจะต้องดำเนินการปฏิรูประบบการเงินในหลายด้าน ทั้งการเปิดตลาดการเงินภายในประเทศและยอมให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศมากยิ่งขึ้น รวมทั้งขยายตลาดการซื้อขายเงินหยวน เพื่อสร้างการยอมรับและให้เกิดความคล่องตัวในเวทีเศรษฐกิจโลกยิ่งขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง