ตรวจก่อนแต่งป้องกันธาลัสซีเมียก่อนมีบุตร

สังคม
8 ก.พ. 55
15:12
19
Logo Thai PBS
ตรวจก่อนแต่งป้องกันธาลัสซีเมียก่อนมีบุตร

คณะทำงานชมรมธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทยเชิญชวนผู้คู่รักที่จะแต่งงานในช่วงวาเลนไทน์ถือโอกาสไปตรวจเลือดโดยวิธีพิเศษ ว่าเป็นพาหะของโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียหรือไม่ก่อนมีบุตร ป้องกันการเพิ่มของผู้ป่วย

 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นเดือนแห่งความรัก คู่รักส่วนใหญ่มักถือโอกาสนี้จัดงานมงคลสมรสพร้อมจดทะเบียนสมรส อย่างถูกต้องจารีตประเพณี  แต่หากจะให้ถูกต้องครบถ้วนคู่รักทุกคู่ต้องมีการไปตรวจเลือดโดยวิธีพิเศษ ว่าเป็นพาหะของโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียหรือไม่ก่อนที่จะแต่งงานและก่อนตั้งครรภ์ เพราะปัจจุบันสามารถตรวจได้ว่าทารกในครรภ์เป็นพาหะหรือเป็นปกติ 

 
นางสาวชุติกร พูลทรัพย์ ประธานคณะทำงานชมรมทาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียจากการติดต่อทางพันธุกรรมที่ได้รับการรักษาตามมาตรฐานจนสามารถที่จะใช้ชีวิตประจำวันเหมือนคนปกติทั่วไป กล่าวว่าอยากให้รัฐบาลเร่งรณรงค์เรื่องดังกล่าว และในวันวาเลนไทน์ที่จะถึงนี้ จะไปแจกโบว์ชัวที่เขตบางรัก เพื่อไปให้ความรู้เรื่องโรคธาลัสซีเมียกับคู่รักที่จะแต่งงาน และรณรงค์ให้มีการไปตรวจเลือดว่าเป็นพาหะของโรคนี้หรือไม่ ป้องกันการเพิ่มของผู้ป่วยโรคนี้ 
 
สมาพันธ์ธาลัสซีเมียนานาชาติ หรือ T.I.F.ร่วมกับมูลนิธิโรคโลหิตธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยมหิดล จัดการประชุมวิชาการเกี่ยวกับโรคธาลัสซีเมียและความผิดปกติเกี่ยวกับฮีโมโกบินและเม็ดเลือดแดงของกลุ่มประเทศเอเชียครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 8-10 กุมพาพันธุ์ นี้  เพื่อรายงานสถานการณ์โรคธาลัสซีเมีย กลยุทธและแนวทางป้องกันความผิดปกติของฮีโมโกบิน โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสมาพันธ์ธาลัสซีเมียนานชาติ ผู้เชี่ยวชาญจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในไทยเข้าร่วมประชุม โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมโครงการวิจัย เพื่อปรับปรุงรักษาและทำให้ผู้ป่วยทั่วโลกได้รับการรักษาอย่างทั่วถึง   
 
                                      
<"">
 
โดยนายพานอส เอนริซอส ประธานสมาพันธ์ธาลัสซีเมียนานาชาติ กล่าวว่าปัญหาของโรคนี้ที่พบบ่อยทั่วโลก โดยประมาณจะมีผู้ป่วยเกิดใหม่ที่เป็นโรคถึง 300,000 ราย และมีผู้ที่เป็นพาหะในโลกมากถึงร้อยละ 5 หรือ ประมาณ 250 ล้านราย ซึ่งถ้ามีการรักษาที่ไม่ถูกต้องจะทำให้เด็กที่โตขึ้นมา  มีอาการซีด เติบโตไม่สมอายุ มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ดีซ่าน ม้ามโต ตับโต มีภาวะเหล็กเกิน หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะทำให้อายุสั้น สมาพันธ์จึงห่วงสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่หลายประเทศมีปัญหาการรักษาที่ไม่ถูกวิธี เช่นที่ อินโดนีเซีย พม่า ไทย ลาว โดยคาดหวังว่าจะมีการรักษาที่ดีและถูกวิธีซึ่งระหว่างการรักษาก็ต้องลดจำนวนผู้ป่วยลงด้วยและหวังว่าจะได้รับความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ 
 
ด้านพญ.คุณหญิงสุดสาคร ตู้จินดา ประธานมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย กล่าวว่าในประเทศไทยมีมีการสืบทอดพันธุกรรมจากปู่ ย่า ตา ยาย รุ่นต่อรุ่น ซึ่งพบว่ามีเด็กที่เป็นโรคจากพาหะนี้  6 แสนคนเป็นอย่างน้อย ซึ่งการควบคุมให้โรคลดน้อยลงจะต้องให้ความรู้กับประชาชนในทุกระดับ และรัฐบาลต้องผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ ยอมเสียเงินเพื่อควบคุมป้องกันดีกว่าเสียเงินรักษา  
 
ขณะที่นายแพทย์วิปร วิประกษิต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล  กล่าวว่าสถานการณ์ผู้ป่วยในประเทศไทยมูลนิธิฯได้มีการเสนอควบคุมโรคนี้เป็นวาระแห่งชาติหลายปีแล้ว  การควบคุมโรคธาลัสซีเมียของไทยในอดีตอยู่ในการควบคุมของกรมอนามัย เพื่อให้มีการตรวจเลือดหญิงที่มีการฝากท้องฟรี หากพบเป็นพาหะอนุญาตให้นำคู่สมรสมาตรวจฟรีด้วย หากพบว่ามีพาหะตรงกันซึ่งจะมีความเสี่ยงเป็นโรค ก็จะมีการวินิจฉัยให้ตรวจเด็กที่อยู่ในท้องว่าเป็นโรคหรือไม่ถ้าหากพบก็สามารถอนุญาติให้ยุติการตั้งครรภ์ได้   แต่ปัญหาของไทยเมื่อมีการเปลี่ยนระบบสาธารณสุขมาเป็นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. งบประมาณส่วนนี้จึงถูกกระจายออกไปตามโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งโรงพยาบาลต่างๆปฏิเสธการจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และเมื่อปี 2549 มีการเปลี่ยนระบบโดยการจัดตั้งกองทุนควบคุมป้องกันขึ้นมาใช้งบประมาณเพียง 30-40 ล้านบาท ดำเนินการได้เพียง 3 ปี สามารถตรวจกรองหญิงตั้งครรภ์ได้ 7-8 แสนคนและวินิจฉัยธาลัสซีเมียได้ถึง 1,000 คน ที่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้  จากนั้นในปี 2551 มีการเปลี่ยนแปลงอีก การตรวจคัดกรองต้องออกค่าตรวจด้วยตนเอง การควบคุมการเกิดโรคจึงถูกลดไป จนปัจจุบันหลังจากเปลี่ยนระบบไม่สามารถระบุว่าสถานการณ์ผู้ป่วยมีจำนวนแน่ชัดเท่าใด ซึ่งหากไม่มีระบบตรวจติดตามปัญหาการควบคุมโรคธารัสซีเมียจะกลับมาใหม่  
 
สำหรับในต่างประเทศมีประเทศไซปรัสที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมไม่ให้มีการระบาดของโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแล้ว โดยสมาพันธ์ธาลัสซีเมียระบุว่าปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลต้องไม่เปลี่ยนแปลง โดยต้องให้ความรู้กับประชาชนในระดับสาธารณะให้เข้าใจเกี่ยวกับโรคธาลัสซีเมียอย่างทั่วถึงไม่เฉพาะในกลุ่มผู้มีการศึกษาเท่านั้น นอกจากนี้ต้องมีการจัดระบบการให้บริการ ถ้าจะตรวจทุกอย่างต้องพร้อมสามารถจัดบริการตั้งแต่เบื้องต้น การตรวจกรองไปจนถึงการวินิจฉัย และการให้การปรึกษาด้านพันธุกรรม  
 
ทั้งนี้ ธาลัสซีเมียเป็นโรคเลือดเรื้อรังทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อยในประเทศไทย เกิดจากการได้รับยีนที่ผิดปกติจากพ่อแม่ผู้ที่เป็นพาหะจะมียีนผิดปกติเพียงข้างเดียว และสามารถที่จะใช้ชีวิตปกติได้เหมือนคนปกติทั่วไป แต่จะสามารถถ่ายทอดยีนไปให้ลูกหลานได้โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะพ่อแม่ที่เป็นพาหะของธาลัสซีเมียทั้งคู่มีโอกาสที่จะมีลูกเป็นธาลัสซีเมียร้อยละ 25  ผู้ป่วยจะมีอาการซีด  ตาเหลือง ใบหน้าเปลี่ยน ดั้งจมูกยุบ กระโหลกศีรษะหนา โหนกแก้มสูง ฟันบนยื่น กระดูกบาง เปราะง่าย ผิวหนังดำคล้ำ ร่างกายเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ และติดเชื้อง่าย สำหรับผู้ที่มีโอกาสเป็นโรคนี้ ได้แก่ คนทั่วไปมีโอกาสเป็นพาหะธาลัสซีเมียชนิดใดชนิดหนึ่ง ร้อยละ 30-40 ผู้ที่มีบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีญาติเป็นโรคธาลัสซีเมียหรือพาหะ 
 
ดังนั้นหากไม่แน่ใจควรจะมีการตรวจหาว่าตนเองมีพาหะของโรคนี้หรือไม่เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียเพิ่มอีก เพราะในแต่ละปีประเทศไทยโดยเฉลี่ยมีทารกเกิดป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง 4,250 คน โดยเฉพาะคู่รักที่เริ่มต้นชีวิตคู่เดือนแห่งความรักนี้ หากพบว่าทั้งคู่เสี่ยงในการมีบุตร จะได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญหลีกเลี่ยงการมีบุตรที่เป็นโรค และช่วยให้มีบุตรที่มีสุขภาพดีได้ด้วยวิทยาการสมัยใหม่ โดยขอรับบริการได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง