มหิดล-จุฬาฯ วิจัยเชื้อโรคที่พบปี 54 ไม่พบโรคฉี่หนูอย่างที่กังวล

Logo Thai PBS
มหิดล-จุฬาฯ วิจัยเชื้อโรคที่พบปี 54 ไม่พบโรคฉี่หนูอย่างที่กังวล

ม.มหิดล และสวทช.ร่วมกันผลิตน้ำจุลินทรีย์ทดลองพ่นบริเวณน้ำเสียพบฆ่าลูกน้ำได้ ด้านการวิจัยเกี่ยวกับเชื้อโรคที่พบในน้ำท่วมปี 2554 ไม่พบโรคฉีหนู แต่ส่วนใหญ่พบโรคน้ำกัดเท้า และการติดเชื้อทางแผลมากกว่า

มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานพัมนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (สวทช.) จัดเสวนาวิชาการและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง “ผลของน้ำท่วมต่อสุขภาพ และงานวิจัยเพื่อรับมือ” โดยได้เผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับเชื้อโรคที่พบในน้ำท่วม โดยนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยใช้วิธีการสุ่มตรวจประชาชนที่สัมผัสกับน้ำท่วม และตรวจหาเชื้อโรคในน้ำ พบว่าสถานการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 ไม่พบโรคระบาดของโรคเลปโตสไปโลสิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู ซึ่งเป็นโรคที่มีการเฝ้าระวังมากที่สุดในวงการแพทย์ แต่ส่วนใหญ่พบโรคน้ำกัดเท้า และการติดเชื้อทางแผล

ขณะที่ ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่าแม้จะไม่พบการระบาดของโรคในช่วงน้ำท่วมปี 2554 แต่ผลที่ได้จากการวิจัยของนักวิชาการครั้งนี้จะเป็นข้อมูลสำหรับการศึกษาวิจัยต่อยอด เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น โดยยังคงต้องเฝ้าระวังโรคฉี่หนู, โรคอุจจาระร่วง และโรคติดเชื้อต่างๆ โดยไข้เลือดออกพบน้อยในพื้นที่ที่น้ำท่วม เนื่องจากยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค มักอยู่ในแหล่งน้ำใสสะอาด แต่พบยุงลายหลังจากน้ำท่วม ส่วนยุงรำคาญ ซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้สมองอักเสบพบมากในน้ำเน่าเสีย

ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยมหิดล และสวทช.ได้ร่วมกันผลิตจูลินทรีย์ที่เป็นแบคทีเรีย 7,000 ลิตร ทดลองพ่นบริเวณน้ำเน่าเสียที่มีลูกน้ำยุงรำคาญ พบว่าฆ่าลูกน้ำได้ จึงจะมีการผลิตเพิ่มเติมอีก 50,000 ลิตร


ข่าวที่เกี่ยวข้อง