วังวนละครไทยปี 58 หลายช่วงหวนคว้าละครดังในอดีตรีเมคใหม่

Logo Thai PBS
วังวนละครไทยปี 58 หลายช่วงหวนคว้าละครดังในอดีตรีเมคใหม่
ละครยังหอมหวาน เรียกเรตติ้งได้ไม่ยาก เลยทำให้ปีหน้าได้เห็นหลายช่องหวนสูตรสำเร็จ คว้าละครดังในอดีตมารีเมคสร้างใหม่ หวังให้บทประพันธ์ชั้นเซียนยังมัดใจการันตีความคุ้มทุน รวมทั้งช่วยพยุงให้ช่องดิจิทัลน้องใหม่ลุกจากตั้งไข่มาเป็นย่างก้าวที่มั่นคงได้

ปลุกกระแสให้ผู้ชมหันมาคุยกันด้วยคำศัพท์โบราณทั้งบ้านทั้งเมืองและถึงขั้นตั้งหน้าเพจช่วยกันหาความหมายคำเก่า นี่เป็นปรากฎการณ์หลังละคร "สะใภ้จ้าว" ชูจุดเด่นด้วยบทละครที่ใช้คำเก่าเล่าใหม่ คำไทยโบราณที่ห่างหายกลับมาพร้อมละครรีเมคแนวพีเรียด ที่เน้นความสวยงามสมจริง

"ยุคสมัยต้องอยู่ครบ ดูแล้วต้องถูกต้องไม่งั้นคนดูจะไม่อิน ชุดรีเสิร์ชจริง ผมกว่าจะได้แต่ละทรงต้องดัดร้อนดัดเย็น แม้หนังสือที่เข้าฉากก็ต้องของจริงเพราะเอาบทพระราชนิพนธ์มา" อรุโณชา ภาณุพันธ์ ผู้จัดละคร

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความยากที่ผู้จัดต้องเผชิญ หากอยากหยิบละครเก่าที่เคยประทับใจมาสร้างใหม่ให้ไม่ค้านสายตาแฟนละคร เพราะความคาดหวังยังเป็นอุปสรรคสำคัญของละครเแนวนี้ แต่ดูเหมือนภาพความสำเร็จเดิมที่เป็นทุนอยู่แล้วจะหอมหวานกระชากเรตติ้งได้มากกว่า จึงทำให้บรรดาเจ้าพ่อเจ้าแม่ละครยังขนทัพกันรีเมคละครเรื่องดังในอดีตให้เห็นตลอดปี อย่างวิกสามพระรามสี่ที่มีทั้งพลับพลึงสีชมพู ห้องหุ่น หนึ่งในทรวง และทางผ่านกามเทพ ชนกันหมัดต่อหมัดกับวิกหลายสี ข้ามากับพระ พญาโศก บ้านทรายทอง ไม่ใช่แค่ผู้ชมที่เพียงเอ่ยชื่อละครก็เดาทางได้ แต่สำหรับนักแสดงเองจะรีเมคกี่ครั้งก็ยังต้องลุ้นให้สอบผ่าน

 

ละครรีเมคไม่ได้เป็นธรรมเนียมของช่องยักษ์ใหญ่อย่างเดียว เพราะศึกชิงเรตติ้งบนจอแก้วทำให้ช่องดิจิทัลน้องใหม่ อย่าง PPTV ทุ่มงบประมานกับละครถึง 10 เรื่องในปีหน้า พ่วงละครรีเมค อย่าง "เสียดาย" หนังดังรางวัลตุ๊กตาทอง ปี 2537 และ "บัวแล้งน้ำ" ละครสอนใจเนื้อหาเข้มข้น

ปีหน้าจะได้เห็นสีสันของละครไทยที่รีเมคเป็นบทประพันธ์ชั้นครู เนื้อหาเข้มค้น และคุ้นเคย และยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักแสดงหน้าใหม่ ซึ่งก็น่าจะเป็นแนวทางของละครรีเมคในปีหน้า

การเป็นคู่แข่งรายใหม่ในระบบทีวี ทำให้ต้องหาจุดยืนที่แตกต่าง และยังสร้างไพร์มไทม์ของตัวเอง โยกละครเด่นไปไว้ช่วงบ่ายเลี่ยงคู่ต่อสู้ช่องใหญ่ จากการสำรวจความเห็นผู้ชมยังพบว่า ละครรีเมค ช่วยให้คนดูเปิดใจยอมรับง่ายกว่า และสร้างภาพจำให้ช่องน้องใหม่ได้อีกทาง

แต่แม้เป็นจุดขายที่ถูกจริตคนไทยมาทุกยุค แต่ละครดังปัจจุบันที่โหนเรตติ้งได้กว่าครึ่งก็ถือว่าสำเร็จเกินคาด ผิดกับในอดีตที่ละครหลายเรื่องเคยทะยานเกือบเต็ม 10 นั่นเป็นเพราะสัดส่วนขนมเค้กที่กว่า 20 ช่อง ต้องแบ่งกัน ยิ่งเป็นนาทีสำคัญที่ลงทุนแล้วต้องไปต่อ

ละครรีเมคไม่ได้แค่หวนความทรงจำครั้งเก่าของผู้ชมสู่หน้าจอทีวี แต่ยังมีความหมายในแง่การตลาด เพราะไม่ต่างจากหนังสือดีที่เราอ่านได้หลายจบ แต่การจะนำสูตรสำเร็จมาใช้ก็ใช่ว่าจะรุ่งเสมอไป เพราะหากจะกำชัยชนะและเรตติ้งไว้ได้ คงต้องถามใจผู้ชม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง