สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์หนุนรัฐบังคับใช้กฎหมายห้ามเผาซังข้าวโพด

สิ่งแวดล้อม
9 เม.ย. 58
16:00
351
Logo Thai PBS
สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์หนุนรัฐบังคับใช้กฎหมายห้ามเผาซังข้าวโพด

อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ถูกมองว่าเป็นต้นตอของวิกฤตหมอกควันที่กลายเป็นปัญหาประจำทุกฤดูแล้ง เนื่องจากมีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์เพื่อป้อนโรงงาน ซึ่งในกระบวนการปลูก เกษตรกรเลือกใช้วิธีการเผาซังข้าวโพดเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์เห็นด้วยว่าปัญหานี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

งานเสวนา "ความจริงเรื่องข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กับทางออกเพื่อประเทศไทย" มีตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ต่อการแก้ปัญหาหมอกควันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะใน 10 จังหวัดภาคเหนือ ปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยด้วยระบบทางเดินหายถึง 9 แสนคน
 
ทุกฝ่ายยอมรับว่าการรุกป่าเพื่อปลูกพืชเกษตรและเผาวัสดุเหลือจากทำเกษตร เป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหาหมอกควัน จากข้อมูลของกรมป่าไม้ แต่ละปีพื้นที่ป่าเฉลี่ยหายไปประมาณ 1 ล้านไร่ จากเดิมที่มี 329 ไร่ เหลือเพียง 102 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ปลูกข้าวโพดในป่าสงวน 2.5 ล้านไร่

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเปิดเผยว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2547 การปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมีแรงจูงใจจากราคาที่สูงขึ้น ทำให้ขณะนี้มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดทั้งหมด 7 ล้านไร่ ไม่นับรวมที่ปลูกในพื้นที่ป่า รวมผลผลิต 4-5 ล้านตัน มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดกว่า 4 แสนครัวเรือน

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตะนกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ เสนอบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดเพื่อดูแลการปลูกพืชเชิงเดี่ยวสำหรับเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์

"ถึงเวลาที่ต้องใช้มาตรฐานการจัดการเกษตรที่ดี ซึ่งกระทรวงเกษตร โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติได้จัดทำไว้แล้ว มาตรฐานนี้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการปลูกข้าวโพดเมล็ดแห้งว่าปลูกอย่างไรถึงจะได้มาตรฐาน และมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า ห้ามเผาซังเตรียมดินเพื่อปลูกข้าวโพด" นายพรศิลป์กล่าว

ขณะที่เครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมเกษตรกรพันธสัญญา เห็นว่าสาเหตุหนึ่งของปัญหาหมอกควันมาจากการทำการเกษตรพันธสัญญา ทำให้มีการเร่งปลูกข้าวโพด ซึ่งนักวิชาการบางคนเห็นว่านอกจากแก้ไขกฎหมายแล้ว ต้องบูรณาการหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพ

"การแก้ปัญหาในเรื่องนี้มี 3 ประการ คือ 1.ควรตั้งองค์กรขึ้นมาตรวจสอบดูแลเรื่องเกษตรพันธสัญญา ซึ่งนอกจากจะดูแลเรื่องประสิทธิภาพแล้ว ยังต้องมองเรื่องความเป็นธรรมประกอบด้วย 2.ต้องมีกฎหมายมาควบคุมเรื่องนี้โดยตรง และ 3.การบริหารจัดการ การวางแผน การตรวจสอบเกษตรพันธสัญญา ต้องกระจายอำนาจไปถึงระดับพื้นที่ให้เก็บข้อมูลว่ามีพื้นที่ปลูกเท่าไหร่ เกินศักยภาพของพื้นที่หรือไม่ มีการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรหรือไม่" นายไพสิฐ พาณิชยกุล ศูนย์ศึกษาความเป็นธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  
จังหวัดน่านเป็นจังหวัดแรกๆ ที่มีการบังคับใช้ข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการทำเกษตรเชิงเดี่ยว โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งนายสถาพร สมศักดิ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดน่านอธิบายว่า ได้มีการบังคับใช้ข้อบัญญัติตำบลห้ามขยายพื้นที่ปลูกบุกรุกป่าสงวน ซึ่งได้รับความร่วมมือ โดยหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาบุกรุกได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง