เส้นทางการแต่งตั้งพระสังฆราช : ลำดับพระอาวุโสโดยสมณศักดิ์

สังคม
12 ม.ค. 59
08:17
4,814
Logo Thai PBS
เส้นทางการแต่งตั้งพระสังฆราช : ลำดับพระอาวุโสโดยสมณศักดิ์
การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 จะเป็นครั้งแรกที่ใช้กระบวนการตามกฎหมายคณะสงฆ์ ปี 2505 ฉบับแก้ไข ปี 2535 ซึ่งมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การยึดอาวุโสโดยสมณศักดิ์ และต่อไปนี้คือ 8 ลำดับพระอาวุโสโดยสมณศักดิ์ตามกระบวนการการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่

ลำดับที่ 1

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ อายุ 91 ปี มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ คือ ได้รับสถานปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2538 ซึ่งขณะนี้อยู่ในตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่พระสังฆราช และ กรรมการมหาเถรสมาคม

ลำดับที่ 2

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม มีอาวุโสลำดับ 2 ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2544

ลำดับที่ 3 และ ลำดับที่ 4

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และ สมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ได้รับการสถาปนาพร้อมกัน คือ วันที่ 5 ธันวาคม 2552 แต่สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เข้ารับการสถาปนาก่อน จึงถือว่ามีอาวุโสกว่าสมเด็จพระวันรัต

ลำดับที่ 5

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ได้รับการสถาปนาฯ ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2553

ลำดับที่ 6

สมเด็จพระธีรญาณมุนี ได้รับการสถาปนาฯ ปีเดียวกับ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ แต่พรรษาอ่อนกว่า จึงเข้ารับการสถาปนาทีหลัง

ลำดับที่ 7

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม ได้รับการสถาปนาฯ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2554

ลำดับที่ 8

สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราวรวิหาร ถือว่ามีอาวุโสโดยสมณศักดิ์น้อยที่สุด เพราะได้รับสถาปนาเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ปี 2557

 

วันที่ 10 ม.ค.2559 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อธิบายว่าการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชต้องยึดตามกฎหมาย โดยคำนึงถึงสมณศักดิ์สูงสุด
"อาวุโสของพระนั้นมี 2 แบบ คือ อาวุโสโดยพรรษา คือ บวชมานาน และอาวุโสโดยสมณศักดิ์ ซึ่งเราได้เปลี่ยนอาวุโสโดยพรรษามาเป็นอาวุโสโดยสมณศักดิ์มา 20 ปีกว่าแล้ว ด้วยเหตุว่าถ้ายึดตามอาวุโสโดยพรรษา พระรูปไหนที่แก่ที่สุด ชราที่สุดก็จะได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชซึ่งก็คงไม่เหมาะที่จะมาบริหารงานพระพุทธศาสนา จึงได้เปลี่ยนมาเป็นอาวุโสโดยสมณศักดิ์ คือ การเป็น สมเด็จก่อน" นายวิษณุกล่าว

ก่อนหน้านี้ การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชตามกฎหมาย ไม่ได้กำหนดกรอบเวลา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช 6 พระองค์ คือสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 14 - 19 ใช่เวลานานตั้งแต่ 6 เดือน ถึง กว่า 1 ปีครึ่ง เพื่อสถาปนาตำแหน่งประมุขสูงสุดของคณะสงฆ์

ขณะที่ในคราวสมเด็จพระญาณสังวรได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 ในปี 2532 ซึ่งยังยึดตามกฎหมายคณะสงฆ์ ปี 2505 ฉบับเดิมกำหนดให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช แม้ขณะนั้นสมเด็จพระญาณสังวร จะมีสมณศักดิ์สูงสุด แต่เมื่อเทียบด้วยพรรษา ถือว่ามีพรรษาน้อยกว่า และสมเด็จพระราชาคณะที่มีพรรษาสูงสุดในตอนนั้นไม่ขอรับตำแหน่ง สมเด็จพระญาณสังวร จึงได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง