นักวิชาการชี้แผ่นอินเดียมุดใต้แผ่นยูเรเซีย เหตุแผ่นดินไหวเนปาล

สังคม
26 เม.ย. 58
08:30
806
Logo Thai PBS
นักวิชาการชี้แผ่นอินเดียมุดใต้แผ่นยูเรเซีย เหตุแผ่นดินไหวเนปาล

ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต เผยสาเหตุของเกิดแผ่นดินไหวที่เนปาล เมื่อวานนี้ (25 เม.ย.2558) ว่าเกิดจากการที่แผ่นอินเดียมุดตัวใต้แนวแผ่นยูเรเซีย ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความเสี่ยงสูงมากทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง ขณะที่รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ยืนยันไม่กระทบไทย แต่เนปาลจะเกิดอาฟเตอร์ช็อกขนาด 6.5-7 ตามมาตราริกเตอร์ ภายใน 2-3 เดือน

รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต  ระบุว่าแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในระดับ 8 มาตราริกเตอร์ หรือใกล้เคียง ส่วนใหญ่จะเกิดในบริเวณรอยเลื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นรอยเลื่อนแผ่นเดียวกับเหตุแผนดินไหวเมื่อปี 2547

ภาพถ่ายแผ่นเปลือกโลกแสดงให้เห็น ว่าสาเหตุของแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ตามมาตราริกเตอร์ในครั้งนี้เกิดจากการที่แผ่นอินเดียมุดตัวใต้แนวแผ่นยูเรเซียที่เนปาล ซึ่งบริเวณดังกล่าวอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมาก และจะมีความเสียหายรุนแรง แต่เนปาลมีปัญหาในเรื่องแนวทางปฎิบัติและรับมือภัยพิบัติ ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง ทั้งที่ก่อนหน้าที่เคยเกิดเหตุมาแล้วและทราบอยู่แล้วว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูง

ทั้งนี้ แผ่นอินเดียได้มุดใต้แผ่นยูเรเซีย ปีละประมาณ 5 ซม. เมื่อแผ่นยูเรเซียแบกรับไม่ไหวจึงทำให้เกิดแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นแผ่นเดียวกับที่ทำให้เกิดสึนามิในไทยเมื่อปี 2547 โดยไทยยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต

ขณะที่นายบุรินทร์ เวชบรรเทิง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ยืนยันว่าแผ่นดินไหวใหญ่ที่ประเทศเนปาลจะไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทย เพราะระยะทางไกล พร้อมระบุว่าเนปาลมีโอกาสเกิดอาฟเตอร์ช็อกขนาด 6.5-7 ตามมาตราริกเตอร์ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสิ่งก่อสร้างในบริเวณใกล้เคียงศูนย์กลางแผ่นดินไหวภายใน 2-3 เดือน พร้อมแนะนำผู้ที่อยู่ในเนปาลพักอาศัยในอาคารที่มั่นคงแข็งแรง สังเกตจากโครงสร้างของอาคาร ซึ่งไม่ได้รับความเสียหายต่อโครงสร้างอาคารและเสา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง