“กองทุนสวัสดิการ” เดินหน้ากำจัดจุดอ่อน

23 มี.ค. 55
08:35
14
Logo Thai PBS
“กองทุนสวัสดิการ” เดินหน้ากำจัดจุดอ่อน

“ผมเคยถามสี่เสือสงขลาแล้วเขาตอบไม่ได้ คือ ถามว่า กองทุนที่ตั้งขึ้นมา รายได้ที่เกิดจากดอกเบี้ยที่สมาชิกกู้ยืมเอามาจัดสวัสดิการก็จริง แต่มันไปสร้างวัฒนธรรมการเป็นหนี้ของชุมชนหรือเปล่า” พงศ์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้ดำเนินรายการเวทีเสวนา “ชุมชนท้องถิ่นกับการจัดสวัสดิการครบมิติตั้งแต่เกิดจนตาย ทำได้อย่างไร”   ในการประชุมเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ฟื้นพลังชุมชนสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ครั้งที่ 2 ประจำปี 2555

นี่เป็นคำถามที่น่าสนใจ และเป็นจุดอ่อนของกองทุนสวัสดิการท่ามกลางจุดแข็งของกองทุนที่กำลังเบ่งบานอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศขณะนี้

ข้อมูลพื้นที่ของ ต.วังใหม่ อ.นายายอาม จ.จันทบุรี ซึ่ง นริศ กิจอุดม นายกอบต.วังใหม่ ระบุว่า กลุ่มออมทรัพย์ในพื้นที่นั้นมีหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มก็ได้ก่อตั้งกองทุนสวัสดิการต่างๆ ขึ้นมาอีกหลายกองทุน ชาวบ้านก็มักเป็นสมาชิกของหลายกองทุน เพราะเมื่อสมทบแล้วจะสามารถกู้ได้

“ทำไปทำมาชาวบ้านเริ่มลำบาก แต่กองทุนสบาย คนหนึ่งเป็นสมาชิก 3 กองทุน ต้องออมเดือนละ 300 ขึ้นไป กู้ก็ต้องส่งดอกเบี้ยด้วย แล้วยังต้องออมด้วย ทำให้ชาวบ้านท้อเหมือนกัน ทำไปไม่นาน ก็ทิ้งกลางครันหลายคน”

“ตอนนี้กองทุนโตเร็ว แล้วเอามาจัดสวัสดิการเยอะแยะ แต่เงินตรงนี้คือเงินของชาวบ้าน บางคนก็ขอดก้นหม้อหลายรอบแล้ว แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะมันเป็นสัจจะ ดังนั้น สวัสดิการต้องมีความพอดีเหมือนกัน ไม่ใช่ไปตั้งให้สูงจนเกินไป เช่น ตายได้ 70,000 บาท เป็นต้น” นริศกล่าว

แต่กองทุนสวัสดิการสังคมในชุมชนท้องถิ่น แม้จะมีอัตราการเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็วในขณะนี้ แต่อย่างไรก็ยังต้องนับว่าอยู่ในระยะเริ่มต้น และจุดอ่อนที่ว่า ก็ยังมิอาจบดบังหลักการและประโยชน์ของมันที่เพิ่มอำนาจการเข้าถึงเงินทุนให้กับประชาชนในท้องถิ่น  ทั้งยังตอบสนองบริการหรือสวัสดิการพื้นฐานครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตาย

มุกดา อินต๊ะสาร กรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 ของ สสส.หรือ “ครูมุกดา” แห่งอำเภอดอกคำใต้ จ.พะเยา ซึ่งมีธนาคารหมู่บ้านทั้งพื้นที่ถึง 48 แห่ง ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ว่า จุดเริ่มต้นการทำงานของเธอมาจากความฝัน“

ครูฝันตั้งแต่เด็กแล้ว สักวันจะต้องทำให้ชาวบ้านมีบำนาญเหมือนข้าราชการให้ได้ ทำมาหลายอย่าง แต่มันไม่ง่าย ถ้าทำได้อย่างลุงอัมพร (กลุ่มออมทรัพย์ที่ จ.สงขลา) ก็ดีไป แต่เชื่อว่าชุมชนอื่นๆ นั้นต้องให้รัฐท้องถิ่นมาช่วย” ครูมุกดากล่าว

เธอชี้ว่า แนวคิดของชุมชนท้องถิ่นกับการจัดสวัสดิการไม่ใช่การคิดบนฐาน “การแบมือขอ” แต่ต้องเป็นเจ้าของร่วม มีส่วนร่วมและถือว่า “ทำบุญ” ด้วยกัน ดังนั้น จึงเริ่มต้นชวนชาวบ้านในชุมชนมาคุย ออกแบบร่วมกัน เพื่อ “จัดการทุกข์” ของ “พวกเรา” ในทุกๆ เรื่อง ประสานกับภาคีเครือข่าย เชื่อมโยงกับนโยบายรัฐ

ความท้าทายของกองทุนสวัสดิการสังคมในชุมชนท้องถิ่น จึงไม่เพียงกำจัดจุดอ่อนที่เริ่มเห็นบ้างแล้ว แต่มีภารกิจที่ต้องเดินหน้าให้กองทุนในท้องถิ่นเข้มแข็งและดูแลสมาชิกได้จริงอีกด้วย

สำหรับปัจจัยความสำเร็จของการจัดสวัสดิการโดยชุมชนนั้น ครูมุกดาระบุว่า ต้องมีกลไกจัดการแบบพหุภาคี, การจัดการอย่างเป็นระบบ (กติกา), ใช้ปัญญาและความรัก, มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกฝ่าย, การพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะ, มีเครือข่ายสานพลังครูมุกดายังระบุถึง พ.ร.บ.การออมแห่งชาติ ที่เธอได้มีโอกาสนั่งใน กมธ.พิจารณากฎหมายนี้ว่า กฎหมายฉบับนี้ออกแล้ว และจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 8 พ.ค. ชาวบ้านสามารถร่วมออมเพื่อบำนาญ โดยรัฐจะสมทบให้  50%  80% และ100%  ตามแต่อายุที่กำหนดในกฎหมาย

“ขณะนี้ได้ดำเนินการตาม โมเดล “สวัสดิการสู่บำนาญประชาชนจังหวัดพะเยา” แล้ว โดยกำหนดให้สมาชิกออมปีละ 200 บาท แล้วนำเงินไปฝากที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ขอดอกเบี้ยพิเศษ 3% และตั้งเป้าว่าจะขอให้ได้ถึง 4.5-5 เปอร์เซ็นต์ แล้วเชื่อมต่อกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ทำฐานข้อมูลเชื่อมกับธนาคาร ดึงเฉพาะเงินบำนาญออกไป แต่สวัสดิการชุมชนยังเป็นของคนบ้านเรา”

บางทีจุดแข็งของกองทุนที่มีเพื่อเป็นสวัสดิการ หากบริหารจัดการให้ดี ให้เป็นของชุมชนเอง ด้วยวิธีของชุมชนท้องถิ่นแต่ละแห่งแต่ละที่ตามบริบทอันหลากหลาย จะไปลดรายจ่ายของคนในชุมชน และทำให้ความต้องการเงินทุน หรือความจำเป็นต้องเป็นหนี้ลดลงในที่สุด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง