Thailand Web Stat
ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สนทนากับ "นักวิ่งเท้าเปล่า" : ถอดรองเท้า = ถอดความกลัว

กีฬา
24 ม.ค. 59
09:34
9,170
Logo Thai PBS
สนทนากับ "นักวิ่งเท้าเปล่า" : ถอดรองเท้า = ถอดความกลัว
ในยุคที่การวิ่งมาราธอนกำลังเป็นกระแสที่มาแรงในสังคมไทย ใครหลายคนต่างบอกเล่าที่ประสบการณ์ "มาราธอนแรก" อย่างภูมิใจ แต่คงมีไม่กี่คนที่มีเรื่องราวของ "วิ่งเท้าเปล่ามาราธอน" เป็นของตนเอง

หลังจบ "จอมบึงมาราธอน"--งานวิ่งมาราธอนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดงานหนึ่งของประเทศไทยเมื่อ 17 ม.ค.2559 บรรดานักวิ่งโดยเฉพาะนักวิ่งหน้าใหม่ที่พิชิตมาราธอนแรกในสนามระดับตำนานแห่งนี้ต่างบอกเล่าประสบการณ์กันอย่างคึกคัก แต่มีเรื่องเล่าหนึ่งที่ต่างออกไปและทำให้หลายคนทึ่ง นั่นคือเรื่องของชายคนหนึ่งที่จบฟูลมาราธอนจอมบึง 42.195 กิโลเมตรด้วย "การวิ่งเท้าเปล่า"

การวิ่งเท้าเปล่าหรือ Barefoot running เป็นที่รู้จักในแวดวงนักวิ่งเมืองไทยอย่างจริงจังเมื่อปี 2556 เมื่อนักวิ่งกลุ่มหนึ่งเชิญ "โยชิโนะ ซึโยชิ" ปรมาจารย์นักวิ่งเท้าเปล่าชาวญี่ปุ่นและผู้เขียนหนังสือเรื่อง วิ่งเท้าเปล่า เปลี่ยนชีวิต มาสอนเทคนิคการวิ่งเท้าเปล่าที่กรุงเทพฯ และจัดขึ้นอีกหลายครั้งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มคนนิยมวิ่งโดยไม่ใส่รองเท้าก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งที่โยชิโนะซังบอกกับนักวิ่งก็คือ การวิ่งเท้าเปล่าอย่างถูกต้องจะทำให้เท้าเราแข็งแรงขึ้น ลดอาการบาดเจ็บจากการวิ่ง และแก้ปัญหาการบาดเจ็บจากรองเท้า เช่น รองเท้ากัด ไปจนถึงประหยัดค่ารองเท้า ว่ากันว่าใครก็ตามที่วิ่งเท้าเปล่าได้ถึง 5 กม.แล้วจะไม่กลับไปใส่รองเท้าวิ่งแบบเดิมอีกเลย

แม้ว่านักวิ่งเท้าเปล่าจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ก็ยังถือว่าเป็นส่วนน้อยนิดในแวดวงนักวิ่งบ้านเรา และคนที่พิชิตมาราธอนด้วยเท้าเปล่าก็ย่อมมีน้อยลงไปอีก

สุทธิศักดิ์ วิลานันท์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ วัย 47 ปี เป็นหนึ่งในนักวิ่งส่วนน้อยนั้นและเป็นผู้ที่พิชิตระยะทาง 42.195 กม.ที่จอมบึงมาราธอนเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2559 โดยไม่ใส่รองเท้าด้วยเวลา 4 ชั่วโมง 33 นาที ใช้เวลาน้อยกว่านักวิ่งที่ใส่รองเท้าราคาแพงหลายพันบาทหลายๆ คน

"ไทยพีบีเอสออนไลน์" สนทนากับสุทธิศักดิ์ถึงเหตุผลที่เขาถอดรองเท้าวิ่ง สิ่งที่เขาได้จากการเป็นนักวิ่งเท้าเปล่า และประสบการณ์ที่น้อยคนจะได้พบ

เริ่มวิ่ง-เริ่มเจ็บ

ผมเริ่มวิ่งครั้งแรกเดือนมีนาคม 2556 เหตุที่มาวิ่งเพราะมีปัญหาสุขภาพจากการใช้ชีวิตแบบพนักงานออฟฟิศที่ไม่ดูแลตัวเอง ทำงานหนัก ดื่มแอลกอฮอล์ ตอนนั้นอ้วนมาก น้ำหนัก 84 กก.เข้าโรงพยาบาลบ่อย จนกระทั่งเจ้านายและรุ่นน้องในที่ทำงานชวนไปสมัครวิ่งมินิมาราธอน (10.5 กม.) ก็เลยเริ่มซ้อมวิ่งที่วงเวียนใหญ่ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน วิ่งแค่ 2-3 กม.ก็เหนื่อยมากแล้ว ตอนแรกจะถอดใจ แต่เมื่อรับปากไปแล้วก็ต้องไปวิ่งใช้เวลา 1 ชั่วโมง 35 นาที กลับถึงบ้านนอนยาวเลย แต่พอตื่นมาแล้วรู้สึกสดชื่น รู้สึกว่าตัวเรามีความเปลี่ยนแปลง ก็เลยตั้งใจว่าจะหันมาดูแลสุขภาพด้วยการวิ่งนี่แหละ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาหลังเลิกงานจะไปวิ่ง แล้วก็ลงวิ่งตามงานวิ่งบ่อยๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ตัวเอง จากระยะมินิมาราธอนก็เพิ่มเป็นฮาล์ฟมาราธอน (21.1 กม.) และวิ่งฟูลมาราธอนครั้งแรกที่เมืองเดรสเดน ประเทศเยอรมนี ซึ่งจัดแข่งขันในช่วงที่ผมต้องไปดูงานที่เยอรมนีพอดี ทั้งหมดเกิดขึ้นในปี 2556

แต่ปัญหาใหญ่ที่พบในการวิ่งและเป็นสิ่งที่รบกวนจิตใจผมมาตลอดก็คือใส่รองเท้าแล้วเจ็บ ไม่ว่าจะเปลี่ยนรองเท้ากี่ยี่ห้อ กี่รุ่น กี่ขนาดก็ยังเจ็บอยู่ดี ทั้งเท้าพอง เป็นแผลถลอก นิ้วชนจนห้อเลือด ฯลฯ อาจเป็นเพราะรูปเท้าของผมไม่ค่อยปกติ ผมคิดว่ารองเท้ากีฬาส่วนใหญ่ออกแบบมาสำหรับคนที่รูปเท้าสวยแบบฝรั่ง มันอาจจะไม่เหมาะกับเท้าคนเอเชียแบบเราก็ได้ เราก็ชอบวิ่งนะ แต่พอวิ่งแล้วมันเจ็บเราก็ท้อ ไม่อยากจะวิ่ง นอกจากนี้ยังมีอาการเจ็บหัวเข่าด้วย ลองเปลี่ยนท่าวิ่งแล้วก็ไม่หาย แต่ผมก็ทนเจ็บมาตลอด จนกระทั่งได้อ่านบทความของโยชิโนะซังใน Thai Jogging magazine ของสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย ที่พูดเรื่องอาการบาดเจ็บจากการวิ่งและทางแก้ที่เขาเสนอก็คือการวิ่งเท้าเปล่า โยชิโนะซังอธิบายว่าการวิ่งเท้าเปล่าเป็นการวิ่งที่จะทำให้เราไม่บาดเจ็บในระยะยาว (long-term, injury-free) เพราะการวิ่งเท้าเปล่าทำให้เราใช้ท่าวิ่งที่เป็นธรรมชาติและใช้พลังงานน้อยกว่าการวิ่งแบบใส่รองเท้า ผมก็เลยไปหาข้อมูลเพิ่มในอินเทอร์เน็ต เจอกลุ่มเฟซบุ๊ก "รองเท้าหาย" ของนักวิ่งคนไทยที่วิ่งเท้าเปล่าซึ่งให้ข้อมูลว่ามีการเปิดคลินิกสอนการวิ่งเท้าเปล่าโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายก็เลยไปฝึกกับเขา

ถอดรองเท้า-ถอดความกลัว

ครั้งแรกที่ไปฝึกก็เขินๆ ที่ต้องถอดรองเท้า แล้วเราก็กลัวหลายอย่าง คิดโน่นคิดนี่ กลัวเจ็บเท้า กลัวเหยียบโดนอะไรแล้วเป็นแผล กลัวพื้นสกปรก ฯลฯ ตอนแรกผมก็ใส่รองเท้าไวแบรม (ยี่ห้อรองเท้าสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งที่ออกแบบให้แยกนิ้วเท้า 5 นิ้ว บางคนเรียกว่า "รองเท้า 5 นิ้ว") ไป แต่ครูฝึกบอกว่าให้ถอดเลยเพราะอยากให้ได้ประสบการณ์แบบสัมผัสพื้นจริง อันดับแรกเราต้องถอดความกลัวก่อน การฝึกกับเพื่อนๆ ก็ช่วยได้ เพราะเมื่อเราอยู่ในกลุ่มที่ทุกคนถอดรองเท้าวิ่ง ก็รู้สึกไม่เป็นตัวประหลาด

เมื่อได้เรียนเทคนิคการวิ่งเท้าเปล่าแล้ว ผมเริ่มเข้าใจว่ารองเท้าส่วนใหญ่จะมีส้น มีวัสดุรองรับกันกระแทกที่แต่ละยี่ห้อแข่งกันโฆษณา บ้างก็ใช้เทคโนโลยี "air" บางยี่ห้อใช้ "gel" แต่จริงๆ แล้วยิ่งเราใส่รองเท้าพวกนี้เราก็จะยิ่งเดินหรือวิ่งลงส้น เพราะมีส้นรองเท้าคอยรับน้ำหนักเรา และแรงกระแทกจากการลงน้ำหนักที่ส้นนี้จะส่งผลกระทบไปที่หัวเข่า ทำให้ปวดเข่า ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาในระยะยาว ถึงแม้จะปรับท่าวิ่งก็ไม่ช่วยเท่าไหร่ เพราะตราบใดที่เรายังใส่รองเท้าอยู่ เราจะเคยชินกับการเดินหรือวิ่งลงส้น การถอดรองเท้าเหมือนการบังคับตัวเองว่าเราจะไม่วิ่งด้วยการเอาส้นเท้าลง กล้ามเนื้อก็จะได้รับการพัฒนามารองรับน้ำหนักเราได้เพิ่มขึ้น

หลักการของการวิ่งเท้าเปล่าคือ วิ่งให้เป็นธรรมชาติ วิ่งให้สบายและสนุก การวิ่งเท้าเปล่าต้องอาศัยสมาธิ ต้องคอยดูพื้นที่เรียบ สะอาด ไม่มีสภาพหรือวัตถุที่เป็นอันตรายต่อเรา นักวิ่งเท้าเปล่าต้องใช้สมาธิมาก

ตั้งแต่วิ่งเท้าเปล่ามา ไม่เคยบาดเจ็บเลย อย่างมากก็เหยียบขี้หมา ก็แค่ล้างแล้ววิ่งต่อ การทำความสะอาดหลังวิ่งก็เอาแปรงขัดๆ หน่อย ไม่มีอะไรต้องดูแลเป็นพิเศษ และผมว่าถนนในกรุงเทพฯ ถือว่าเหมาะกับการวิ่งเท้าเปล่ามากนะ ผมเคยวิ่งบนถนนสีลม ถนนสุขุมวิท ฟุตบาทก็สะอาด จุดที่ต้องระวังมีแค่สถานที่ที่การก่อสร้าง เพราะอาจเหยียบตะปูหรือวัสดุอย่างอื่นได้

ผมมีประสบการณ์ที่ดีกับการถอดรองเท้าวิ่งตั้งแต่ครั้งแรกที่ฝึก เพราะผมไม่เจ็บ ผมไม่เคยบาดเจ็บจากการถอดรองเท้าวิ่ง แต่ผมกลับบาดเจ็บจากการใส่รองเท้าวิ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อถอดรองเท้าแล้วผมรู้สึกเลยว่าเท้าเราเป็นอิสระ ไม่ต้องถูกพันธนาการ สำหรับผมรองเท้าเหมือนเป็นโลงศพของเท้า ทันทีที่ถอดออกมามันอิสระ ไม่เชื่อลองถอดรองเท้าเดินดูแล้วจะรู้ว่าเท้าเราทำงานได้เต็มที่ การถอดรองเท้าทำให้เราเร่งความเร็วหรือก้าวเท้าได้อย่างเป็นธรรมชาติ ใช้ศักยภาพของเท้าได้เต็มที่ และท่าทางของการวิ่งเท้าเปล่าคือการพุ่งตัวไปข้างหน้า ไม่เอาส้นกระแทก และการพุ่งตัวไปข้างหน้านั้นคือเราใช้แรงโน้มถ่วงของโลกมาดันเราไป ทำให้เราใช้พลังงานน้อยกว่าการวิ่งปกติ

การวิ่งเท้าเปล่าไม่ได้มีต้นกำเนิดที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่มันเป็นเรื่องสากล ไม่มีใครเกิดมาพร้อมรองเท้า ผมเชื่อว่ามันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์ยุคหินก็ไม่ได้ใส่รองเท้าล่าสัตว์หรือวิ่งหนีเวลาถูกล่า ปัจจุบันนี้ผมยังเชื่อว่าหลายคนยังวิ่งเท้าเปล่ากันอยู่ "บิกิลา อาเบเบ" นักกรีฑาชาวเอธิโอเปียที่ได้เหรียญทองมาราธอนในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ที่กรุงโรมในปี 1960 ก็วิ่งด้วยเท้าเปล่า ในการแข่งขันซีเกมส์ที่เมียนมาปีที่แล้ว นักวิ่งมาราธอนหญิงที่ได้เหรียญทองก็วิ่งเท้าเปล่า

 

ผมใส่รองเท้าวิ่งครั้งสุดท้ายในงานกรุงเทพมาราธอนปี 2556 หลังจากนั้นก็ใส่รองเท้าห้านิ้ว แล้วก็เลิกใส่รองเท้าวิ่งเลย รองเท้าวิ่งที่ซื้อไว้หลายคู่ก็ทิ้งไว้อย่างนั้น แต่เวลาซ้อมตามถนนในเมืองก็ใส่รองเท้าห้านิ้วบ้างเพราะบางทีเราก็ไม่อยากถูกมองเป็นตัวประหลาด ไม่อยากเป็นเป้าสายตามากนัก แต่เวลาลงงานวิ่งจริงๆ จะวิ่งเท้าเปล่าตลอด

วิ่งเท้าเปล่า-จอมบึงมาราธอน

ผมตั้งใจตั้งแต่แรกเลยว่าจะวิ่งเท้าเปล่าที่จอมบึงมาราธอน แต่พอบอกเพื่อนๆ ทักท้วงว่าถนนไม่ดี ใส่รองเท้าวิ่งดีกว่า พอถูกทักหนักๆ เข้าผมก็เลยเปลี่ยนใจว่าจะใส่รองเท้า แต่คืนก่อนวิ่งก็นอนคิดกลับไปกลับมาว่าจะใส่หรือไม่ใส่รองเท้าวิ่งดี แต่ผมคิดว่านี่เป็นการวิ่งจอมบึงมาราธอนครั้งแรกของผม ครั้งแรกมีได้แค่ครั้งเดียว ผมต้องเลือกเอาระหว่างการทำเวลาที่ผมอยากทำได้ sub-4 (ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง) โดยการใส่รองเท้าห้านิ้ววิ่ง หรือผมอยากจะผ่านจอมบึงมาราธอนด้วยเท้าเปล่า ถึงจุดหนึ่งผมตอบตัวเองได้ว่าผมจะใส่รองเท้าวิ่งเพื่อทำเวลา sub-4 เมื่อไหร่ก็ได้ แต่การวิ่งเท้าเปล่าที่จอมบึงมาราธอนครั้งแรกนั้นมีได้แค่ครั้งเดียว ผมก็เลยตัดสินใจว่าจะวิ่งเท้าเปล่า

ปรากฏว่าสิ่งที่เจอระหว่างทางนั้นมันโหดมาก จริงๆ ผมก็คิดไว้บ้างแล้วว่ามันจะทรมาน เพราะทางไม่ดี แต่ก็ไม่คิดว่ามันจะทรมานขนาดนี้ ในระยะทางทั้งหมด 42.195 กม. มีถนนที่เรียบและดีสำหรับนักวิ่งเท้าเปล่าแค่ 4-5 กม.เท่านั้น ตั้งแต่กม.ที่ 20 เหมือนตกนรกเลย เพราะมันเป็นถนนสร้างใหม่ พอเหยียบลงไปทีกรวดก็ติดเท้าขึ้นมา แล้วพอย่ำกลับลงไปมันเจ็บทรมานมาก ตอนนั้นผมยังคิดว่าถ้าผมเอารองเท้าติดมาด้วย ผมจะใส่ตอนนั้นเลย แต่พอผ่านไปแล้วผมนึกขอบคุณตัวเองที่ไม่ได้เอารองเท้าไป เพราะผมจะไม่ได้ชื่อว่าเป็นคนที่วิ่งมาราธอนเท้าเปล่าที่จอมบึง

รองเท้าหายไป-ได้บางสิ่งกลับมา

สิ่งที่ผมได้จากการวิ่งเท้าเปล่า นอกจากจะหายจากอาการบาดเจ็บแล้ว ผมยังได้เติมเต็ม passion ของตัวเองด้วย ผมมีความปรารถนาที่อยากทำอะไรที่แตกต่าง ทำในสิ่งที่เป็นตัวของตัวเอง เมื่อคนเรามี passion เราจะเติมเต็มความอยากรู้อยากเห็น มีความกระตือรือร้น เสาะแสวงหาความรู้เพื่อทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นจริง จริงอยู่ว่าผมเริ่มต้นวิ่งเท้าเปล่าเพราะอยากหายจากอาการบาดเจ็บ แต่สิ่งนี้ก็ยังผลักดันไม่ได้เท่ากับ passion ส่วนตัวที่อยากจะเป็นนักวิ่งเท้าเปล่า ทำในสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้

การวิ่งเท้าเปล่าสอนให้เรารู้จักประมาณตน สอนให้เป็นคนมักน้อย ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่านี้ ไม่ต้องคิดมากเวลาจะวิ่ง ไม่ต้องคิดว่าจะต้องแต่งตัวยังไง รองเท้าคู่ไหน เอาอุปกรณ์อะไรไปบ้าง มันสอนให้ผมอยู่ได้ด้วยสิ่งที่มีอยู่จำกัดแต่ก็เพียงพอแล้ว เวลาวิ่งมาราธอน ผมไม่ฟังเพลง ไม่พกเจลเพิ่มพลังงาน ผู้จัดเขาเตรียมอะไรไว้ให้เราก็กินอย่างนั้น ซึ่งผมว่าเพียงพอแล้ว ยกเว้นว่าถ้าไปวิ่งเทรล (เส้นทางวิ่งในป่า ที่ไม่ใช่การวิ่งบนถนน) อย่างนั้นอาจต้องพกอุปกรณ์มากหน่อยเพราะมันจำเป็น

การวิ่งเท้าเปล่ายังช่วยฝึกให้เราทำให้จิตใจอยู่เหนือร่างกาย เพราะในขณะที่วิ่งเราอาจเจ็บปวดจากพื้นที่ไม่เรียบ มีกรวดมีหิน แต่เราต้องไม่ยอมแพ้ต่อความทุกข์ทรมานต่างๆ ของร่างกาย เวลาเจอสถานการณ์แบบนี้ผมจะบอกตัวเองตลอดเวลาว่าเดี๋ยวมันจะผ่านไป และผมเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นการฝึกให้เรารับมือกับความทุกข์ ความเจ็บปวดต่างๆ ในชีวิตได้ดีขึ้นด้วย

ผมไม่ใช่พวกแอนตี้รองเท้า ผมแค่ค้นพบว่าตัวเองเหมาะกับการวิ่งเท้าเปล่าจริงๆ นักวิ่งคนอื่นอาจเหมาะกับการใส่รองเท้า แต่ผมไม่เหมาะ ผมไม่คิดว่าทุกคนจะต้องวิ่งเท้าเปล่าแบบผม แต่ถ้าจะให้พูดเชิญชวนคนที่สนใจ ผมก็จะบอกว่า ถ้าคุณอยากได้ประสบการณ์การวิ่งที่ไม่ทำให้บาดเจ็บ ประสบการณ์การวิ่งที่นุ่นนวล...มันนุ่มนวลจริงๆ นะ เพราะถ้าคุณวิ่งกระแทกคุณไม่สามารถวิ่งเท้าเปล่าได้ ถ้าคุณอยากวิ่งไปได้นาน วิ่งแบบใช้พลังงานน้อยลงก็เชิญมาลองวิ่งเท้าเปล่าดู

กุลธิดา สามะพุทธิ ไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Failed to load player resources

Please refresh the page to try again.

ERROR_BYTEARK_PLAYER_REACT_100001

00:00

00:00

ให้คะแนนการอ่านข่าวนี้