สธ.ออกโรงเตือนผู้นิยมเปิบ “ลาบ- ลู้” เสี่ยงหูดับ หลังพบยอดผู้เสียชีวิตปี 53 พุ่งถึง 12 ราย

สังคม
4 เม.ย. 55
08:38
15
Logo Thai PBS
สธ.ออกโรงเตือนผู้นิยมเปิบ “ลาบ- ลู้” เสี่ยงหูดับ หลังพบยอดผู้เสียชีวิตปี 53 พุ่งถึง 12 ราย

กระทรวงสาธารณสุข แจ้งเตือนประชาชนที่บริโภคเนื้อสัตว์ประเภทต่างๆโดยไม่ผ่านการปรุงให้สุกก่อน เสี่ยงต่อการเป็นโรคหูดับ ระบุช่วงสงกรานต์น่าห่วงสุด หลังยอดผู้เสียชีวิตในปี 2553 พุ่งขึ้นถึง 12 ราย จากผุ้ป่วยทั้งหมด 185 ราย โดยภาคเหนือพบผู้ป่วยมากที่สุด

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การนิยมบริโภคอาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะเนื้อหมูที่ชำแหละกันเองในหมู่บ้าน และนำมากินดิบๆ หรือสุกๆ ดิบๆ เพราะเชื่อว่ารสชาติอร่อยกว่าเนื้อสุก และเชื่อว่าเครื่องปรุงต่างๆ เช่น พริก เกลือ น้ำมะนาว จะทำให้เชื้อโรคและพยาธิที่อยู่ในเนื้อหมูตาย ซึ่งความเชื่อดังกล่าวเสี่ยงต่อการเกิดโรคชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า โรคไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อสเตปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) และมีโอกาสหูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้

จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้หูดับในปี 2553 พบ ผู้ป่วย จำนวน 185 ราย แยกเป็นเพศชาย 136 ราย เพศหญิง 49 ราย และเสียชีวิต 12 ราย เป็นเพศชายทั้งหมด หากแยกเป็นรายภาคพบว่าผู้ป่วยสูงสุดในภาคเหนือ 171 ราย เสียชีวิต 12 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบ ผู้ป่วย 7 ราย และภาคกลางพบผู้ป่วย 7 ราย เช่นกัน จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยที่พบส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง สาเหตุที่มีผู้ป่วยจำนวนมากมาจากการรับประทานเนื้อหมูหรือเลือดหมูดิบ เช่น ลาบ หลู้ ที่นำเลือดหมูสดๆ มาราดบนหมูสุกก่อนรับประทาน แม้ว่าเนื้อจะสุก แต่เลือดดิบก็ทำให้เกิดโรคได้เหมือนกัน ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการติดโรคในภาวะปกติ ได้แก่ ผู้บริโภคเนื้อหมูหรือเลือดหมูดิบ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร คนทำงานในโรงฆ่าสัตว์ คนชำแหละเนื้อสุกร สัตวบาล และสัตวแพทย์ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล รอยถลอก หรือเยื่อบุตา รวมทั้งการบริโภคเนื้อหรือเลือดสุกรที่ไม่ผ่านการปรุงสุก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง