ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน...สร้างอนาคตคนท้องถิ่น

12 เม.ย. 55
10:57
57
Logo Thai PBS
ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน...สร้างอนาคตคนท้องถิ่น

นี่เป็นคำกล่าวของ รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในการแสดงความคิดเห็นว่าการท่องเที่ยวไทย คนส่วนใหญ่มักมองถึงผลประโยชน์เพียงบางมุมเท่านั้น

“เวทีที่จัดขึ้นแต่ละเดือนจะเป็นการนำเอาแง่มุมต่างๆ ในการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น มาทำให้ได้รับรู้เรื่องราวเหล่านั้นชัดเจนขึ้น ว่ามีอะไรที่จะต้องขับเคลื่อนต่อ” ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฎิรูปประเทศ กล่าวในเวทีชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทยครั้งที่ 7 เรื่อง การท่องเที่ยวกับทุนทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรม ณ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
 
“แหล่งท่องเที่ยวของชุมชนที่น่าสนใจ เช่น แหล่งท่องเที่ยวเส้นทางลำน้ำเข็ก มีจุดเด่นคือ เป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ โดยเส้นทางลำน้ำเข็กสามารถเที่ยวได้ทั้งปี ตลอด 3 ฤดูกาล” ดร.รัดเกล้า เปรมประสิทธิ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าว
นอกจากนี้ ดร.รัดเกล้ายังกล่าวเสริมว่า ที่ลำน้ำเข็กมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชุมชนเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดปัญหา
เรื่องขยะตามมาด้วย แต่ชุมชนที่นี่มีความเข้มแข็งและมองเห็นความสำคัญของการท่องเที่ยว รู้ว่าถ้าการท่องเที่ยวอยู่ได้ เขาก็อยู่ได้
 
แต่ปัญหาสำหรับการท่องเที่ยวที่ลำน้ำเข็ก คือไม่มีแผนพัฒนาการท่องเที่ยวรองรับ อปท. ยังไม่มีทักษะในการจัดทำแผนการท่องเที่ยวที่เอื้อต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการท่องเที่ยวโดยชุมชน ฉะนั้น การจัดการแผนท่องเที่ยว ต้องมีการบูรณาการร่วมกัน ระหว่าง อปท. อบต. หรือเทศบาล ตลอดทั้งเส้นทาง เพื่อให้สามารถรองรับการท่องเที่ยวได้ทั้งระบบ
 
เช่นเดียวกับแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนอีกแห่งหนึ่ง ที่หมู่บ้านแม่กำปอง ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่มีอายุกว่า 100 ปี  ปัจจัยที่ชุมชนใช้เป็นทุนขับเคลื่อนในการพัฒนาสู่การเป็นชุมชนท่องเที่ยว ประกอบด้วย ทุนทางธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า อากาศเย็นสบายตลอดปี ทุนทางสังคม มีวิถีชีวิตที่อยู่บนภูเขา ทุนทางวัฒนธรรม มีการรักษาวัฒนธรรมดั่งเดิม มีศิลปะ และการแสดงต่างๆ
 
ส่วนด้านการบริหารจัดการทรัพยากรนั้น พรมมินทร์ พวงมาลา ผู้ใหญ่บ้านแม่กำปอง  เล่าว่า บ้านแม่กำปองมีกฎรักษาป่า มีแนวกันไฟ เพื่อปกป้องทรัพยากรโดยมีคำคล้องจองอยู่อันหนึ่งที่กล่าวว่า “เอาน้ำมาเป็นไฟ สมุนไพรมาเป็นยา ดินฟ้าอากาศเป็นแค่วัตถุดิบในการท่องเที่ยว น้ำเป็นไฟคือผลิตไฟใช้เอง สมุนไพรมาเป็นยา คือมีกลุ่มแปรรูปสมุนไพรที่ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม และแหล่งธรรมชาติก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยว”

ซึ่งรายได้ที่เป็นกำไรได้จากโฮมสเตย์ รวมถึงการท่องเที่ยวได้มีการจัดสรรงบประมาณบางส่วนมาช่วยดูแล เรื่องสวัสดิการของคนในชุมชน ผลสำเร็จของชุมชน ทำให้สมาชิกในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีงานทำ มีรายได้ มีทุนเป็นของตนเอง และมีชื่อเสียง นอกจากนี้แหล่งท่องเที่ยวชุมชนบ้านแม่กำปองยังได้รับการยกระดับเป็นแหล่งเรียนรู้

และอีกหนึ่งสถานที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศคือ บ้านน้ำผึ้ง ตำบลต้นยวน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย บุญทัน บุญชูดำ ผู้ใหญ่บ้านถ้ำผึ้ง เล่าว่า เหตุที่บ้านถ้ำผึ้งกลายเป็น แดนมหัศจรรย์ เพราะหมู่บ้านมีสิ่งที่เรียกว่า บ่อน้ำดัน-ทรายดูด ซึ่งเป็นบ่อน้ำผุดขนาดเล็กมีความแปลกตามธรรมชาติ และหลากพรรณพืชสัตว์
แต่บ้านน้ำผึ้งมักมีปัญหาเรื่องน้ำสำหรับใช้อุปโภค บริโภค และทำการเกษตร เพราะพื้นที่บ้านถ้ำผึ้งขุดบ่อน้ำอย่างไรก็ไม่มีน้ำ ฉะนั้นหมู่บ้านต้องใช้น้ำจากลำธาร จากชีวิตที่ต้องพึ่งพิงป่า พึ่งพิงน้ำในลำธาร ทำให้คนในบ้านถ้ำผึ้งต้องอาศัยน้ำและป่าเป็นแหล่งพึ่งพิงสำคัญ

“ลักษณะเด่นของป่าชุมชนบ้านถ้ำผึ้ง คือรอบๆ ป่าจะมีบ้านของชาวบ้านอาศัยอยู่โดยรอบ บริเวณป่าชุมชนจะเป็นป่าดั้งเดิม ซึ่งทึบมาก มีสัตว์อาศัยอยู่ ทั้งเก้ง หมูป่า ค่าง ชะนี ฯลฯ จึงเกิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ในรูปแบบของการทำบ้านพักโฮมสเตย์ขึ้น คนบ้านถ้ำผึ้งจึงเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการใหม่ ให้ปลูกป่าในที่ของเรา เรียกว่า ป่าปลูกชาวบ้าน ไม่ใช่ชาวบ้านปลูกป่า เพราะเป็นการขยายพื้นที่ทางธรรมชาติในที่ดินชาวบ้าน”

กล่าวได้ว่า บ้านถ้ำผึ้งใช้เรื่องการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการและอนุรักษ์ป่าและแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญของหมู่บ้าน การท่องเที่ยวนอกจากจะส่งเสริมการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน วัฒนธรรมประเพณี ทำให้บ้านถ้ำผึ้งสามารถนำรายได้จากการท่องเที่ยวมาบริหารจัดการชุมชนได้

นี่คือการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่ขยายตัวไปสู่ชุมชน เพื่อสร้างรายได้ สร้างอาชีพ รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น ดังจะเห็นรูปแบบการจัดการของชุมชนท่องเที่ยวเหล่านี้ แต่ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ การท่องเที่ยวของคนต่างประเทศ เขามีการมองในมิติที่ลึกกว่าที่จะไปกินเที่ยวเท่านั้น แต่เป็นการสร้างการเรียนรู้ระหว่างกันของผู้มาเยือนกับเจ้าบ้าน
 
“ฟาร์มสเตย์แห่งหนึ่งในประเทศนิวซีแลนด์ ทำให้เกิดแนวคิดเรื่องการท่องเที่ยวแบบใหม่ เราอยากไปเรียนรู้ว่าแกะหน้าตาเหมือนกันเปี๊ยบ อย่างที่สำนวนกล่าวเหมือนกันอย่างกับแกะ เมื่ออยู่ไปได้วันสองวัน พอดีมีนัดหมาย จึงรีบกลับ เขาถามว่า ทำไมรีบกลับ รู้สึกเสียดาย สิ่งที่เขาเสียดายมากๆ ก็คือ การที่มีคนมาท่องเที่ยวจากที่อื่นแต่เขากลับมีเวลาได้เรียนรู้จากเราน้อยเกินไป คำพูดนี้ทำให้ถึงกับสะดุ้ง” รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทองเล่าเรื่องราว
 
พร้อมกับแปลกใจในคำตอบ ซึ่งเขาได้บอกว่า เขาคือชาวไร่ชาวนาที่อยู่ห่างไกล ส่วนพวกท่านคือ พาหะในการนำความรู้ ข้อมูล มาให้แก่เขา ว่าตอนนี้มีอะไรเกิดขึ้นในโลกบ้าง ฟังแล้วรู้สึกขนลุก นี่เขาคิดอะไรมากกว่าเพียงแค่การหาเงิน หรือได้บริการคนอื่น เขาได้เรียนรู้อะไรจากเรา มากกว่าที่เราเรียนรู้จากเขา

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวเสริมว่า “เราคิดว่าชาวบ้านได้ความรู้จากคนที่มาเที่ยวและเขาไม่ได้คิดว่า ได้ความรู้เท่านั้น แต่ยังคิดว่า ได้มาเป็นเพื่อนกัน เป็นเครือข่ายของกันและกัน เป็นช่องทางสื่อสารตัวเขาออกไป และเอาความรู้จากภายนอกเข้ามา”
 
อย่างไรก็ตาม แนวคิดของคนต่างชาติ เขาถือว่า การท่องเที่ยว คือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ออกไปเรียนรู้ เปิดหูเปิดตา ไม่ใช่ไปเที่ยว ไปกิน และไปพักผ่อน ซึ่งแตกต่างจากคนไทย
 
เช่นเดียวกับความเห็นของ แก้ว สังข์ชู กรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฎิรูป ที่มองการท่องเที่ยวไทยว่า ที่ผ่านมาตั้งโจทย์ผิดพอสมควร เพราะการท่องเที่ยวเชิงวิถี เชิงอนุรักษ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นเชิงธุรกิจ มากว่าเชิงการเรียนรู้ ส่วนมากเราได้ประโยชน์จากรายได้ แต่เรื่องการเรียนรู้ถือว่าปิดประตูได้เลย เพราะเราไปตั้งโจทย์ว่าคนมาเที่ยวบ้านเราจะได้มีรายได้ ขายของอย่างเดียว มีการสร้างแรงจูงใจต่างๆ นานา แต่ไม่ได้เอาโจทย์มาวางว่าต้องเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนไปเที่ยวกับเจ้าของบ้าน
บางทีหากเรียนรู้ระหว่างวิถีต่อวิถี ให้เข้าใจซึ่งกันและกัน จะนำไปสู่การปรับโครงสร้างทางสังคมใหม่ได้

สุเทพ เกื้อสังข์ รักษาการผู้อำนายการสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน (สทช.) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)
เรื่องของการท่องเที่ยวขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ เราไม่ได้มองการท่องเที่ยวที่จมปลักอยู่แต่ในมิติเศรษฐกิจเท่านั้น แต่มองเรื่องมิติของสังคมและคุณภาพชีวิตได้โดยเฉพาะวิถีวัฒนธรรม ให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างคนที่เป็นเจ้าของบ้านกับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน

“ความจริงแล้ว การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้”

วิธีคิดเดิมนั้น เราใช้เรื่องธรรมชาติและวัฒนธรรมมารับใช้การท่องเที่ยวมากเกินไป ทำให้เกิดผลที่ว่า บางคนบางกลุ่มเข้าไปฉกฉวยเอาธรรมชาติมาเป็นสมบัติส่วนตัวบุกรุกป่า กั้นหาดส่วนตัว ทางด้านของประเพณีวัฒนธรรมก็เช่นเดียวกัน แทนที่จะสืบทอดภารกิจหลักของวัฒนธรรมกลับมาทำให้เป็นเรื่องของการท่องเที่ยว

ตอนหลังจึงมีการปรับเปลี่ยนความคิดใหม่ นำเรื่องของการท่องเที่ยวมารับใช้วัฒนธรรม ให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมเกิดขึ้น

แน่นอนว่า โรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า คนขับรถรับจ้าง อาจจะได้เงิน ซึ่งถือเป็นกระจายรายได้ แต่ถ้าเรามองข้ามไปอีกมิติหนึ่ง ให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และความภาคภูมิใจร่วมกัน สิ่งเหล่านี้จะมีมูลค่ากว่าตัวเงินด้วยซ้ำ และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ทำให้เกิดความยั่งยืน

เมื่อก่อนเราอาจจะรวยกันอยู่เฉพาะในเมือง แต่ตอนนี้กำลังจะมีการต่อท่อจากในเมืองไปสู่ชุมชน แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อชุมชนมีความพร้อม ร่วมคิด  ร่วมวางแผน ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์ และร่วมรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นร่วมกัน รวมทั้งตระหนักว่า การพัฒนาใดก็ตามไม่มีผลสำเร็จทั้งหมด อาจะมีล้มเหลวอยู่บ้าง แต่ต้องเอาข้อที่ล้มเหลวนั้นมาเรียนรู้เพื่อพัฒนาต่อ...
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง