การแสดงพื้นบ้านรำลึกวันคึกฤทธิ์

Logo Thai PBS
การแสดงพื้นบ้านรำลึกวันคึกฤทธิ์

นอกจากนำศิลปะราชสำนักอย่างโขนมาให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ได้เรียนรู้แล้ว ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังสนับสนุนศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ทั้งลิเก เพลงฉ่อย และลำตัด ให้แพร่หลายในกลุ่มผู้ชม ไม่เพียงชื่นชอบ แต่ยังมีความรอบรู้ในการแสดงพื้นบ้านหลายอย่าง วาระครบรอบ 101 ชาตกาลอาจารย์หม่อมในปีนี้ ลูกศิษย์ได้จัดการแสดงพื้นบ้านมาให้ชมกัน

บทร้องโต้ตอบ ชิงไหวพริบตามแบบฉบับเพลงฉ่อย เพิ่มความน่าดูด้วยการแต่งกาย และร่ายรำประกอบพิณพาทย์ คือเอกลักษณ์เด่นของเพลงทรงเครื่อง ที่ถือกำเนิดในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 ขวัญจิต ศรีประจันต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง เพลงพื้นบ้าน - อีแซว นำขุนช้างขุนแผน สำนวนแม่เพลงพื้นบ้าน “บัวผัน จันทร์ศรี” มาแสดงให้ชมในวาระ 101 ปีชาตกาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้สนับสนุนเพลงพื้นบ้าน และรอบรู้ถึงกับต่อกลอนกับครูเพลงรุ่นเก่าได้ 

ลิเกทรงเครื่อง “คณะวิโรจน์ หลานหอมหวล” ตามท้องเรื่องพระอภัยมณี คงรูปแบบดั้งเดิมทั้งเครื่องทรง และวิธีเดินเรื่องที่กระชับ แบบฉบับครูหอมหวล นาคสิริ คณะลิเกชื่อดังเมื่อราว 40 ปีก่อน ที่ทายาทลิเกรุ่นหลังยังคงจำจดถึง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่แวะเวียนมาชมถึงวิกบางลำภูเสมอ  การแสดงศิลปะพื้นบ้านในครั้งนี้ ไม่เพียงรำลึกถึงวาระ 101 ปีชาตกาล แต่ยังให้ผู้ชมได้เห็นคุณค่าของศิลปะการแสดงพื้นบ้านตามเจตนารมณ์ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์

มหกรรมการแสดงพื้นบ้านภาคกลาง จัดโดยมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และศูนย์คติชนวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากรวบรวมการแสดงพื้นบ้าน เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรม และเกียรติคุณของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ในงานด้านการอนุรักษ์แล้ว ยังจัดเสวนาวิชาการร่วมหาแนวทางในการคุ้มครอง และสืบสานการแสดงพื้นบ้านที่นับวันจะมีพื้นที่น้อยลง โดยเริ่มจากศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคกลาง ก่อนขยายไปสู่ศิลปะการแสดงภาคต่างๆ ในปีต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง