ผอ.มูลนิธิข้าวขวัญ วอนเลิกมอมเมา 'ชาวนา' ด้วยนโยบายจนตามืดบอด

Logo Thai PBS
ผอ.มูลนิธิข้าวขวัญ วอนเลิกมอมเมา 'ชาวนา' ด้วยนโยบายจนตามืดบอด

"เดชา ศิริภัทร" ระบุนโยบายช่วยชาวนาต้องสร้างปัญญา-พึ่งพาตัวเอง ชี้การใช้เงินอุด แก้ที่ปลายเหตุ เหมือนสอนลูกให้เป็นโจร เชื่อเกษตรกรรู้ทางออก หากไม่ถูกมอมเมาทางนโยบายและปุ๋ยเคมี

ศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ สถาบันอิศรา รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) จัดงานประกาศผลและมอบรางวัล "ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์" ครั้งที่ 9 ประจำปีพุทธศักราช 2555 ณ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ให้แก่ นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ นักคิดนักพัฒนา และในฐานะผู้ขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน  

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช หนึ่งในกรรมการตัดสิน กล่าวถึงการต่อสู้ของชาวนา ต้องต่อสู้กับอธรรม ซึ่งมีอำนาจเงินและอำนาจทุนมาก การต่อสู้ต้องใช้อีกมิติที่สูงกว่า คือ เรื่องของจิตใจ ความเชื่อ หากชาวนายังมีกิเลสมาก แต่ไม่มีปัญญาก็ไปไม่รอด จึงต้องช่วยให้ชาวนามีปัญญา ซึ่งการทำเกษตรอินทรีย์บนวิถีที่พอเพียง ซึ่งเป็นการลงมือทำให้ดู อยู่ให้เห็น เพื่อพิสูจน์ให้เกษตรกรคนอื่นเห็นว่า การใช้ชีวิตพอเพียงและการทำเกษตรแบบปลอดสารเคมีนั้นเป็นวิถีชีวิตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

"เกษตรกรส่วนใหญ่ในจังหวัดสุพรรณบุรีทำนาแบบใช้สารเคมีและมีระบบรับจ้างทำนา อีกทั้งเลือกรับข้อมูลด้านเดียวจากบริษัทขายปุ๋ย และเชื่ออย่างฝังใจว่า เกษตรอินทรีย์สู้การใช้สารเคมีไม่ได้ ภาครัฐก็มองข้ามความสำคัญและยังเข้าไม่ถึงวิถีชีวิตของชาวนาอย่างแท้จริง การรณรงค์และค้นคว้าเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรยั่งยืน จึงเป็นการก่อร่างสร้างผล และจุดประกายให้ชาวนาได้หันกลับมามองวิถีการทำนาของตนเองว่าเดินมาถูกทางหรือไม่"

ขณะที่นายเดชา กล่าวว่า ปัจจุบันชาวนาอ่อนแอ ยากจน มีหนี้และถูกดูถูก ต่างจากเดิมที่ชาวนาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีพระคุณต่อชาติ เป็นกระดูกสันหลังของชาติ เช่นเดียวกับ แม่พิมพ์ของชาติ และรั้วของชาติ แต่ขณะนี้กลายเป็น "รากหญ้า" บ้างก็เรียกว่า "รากแก้ว"

"ที่ชาวนาตกต่ำ เพราะทำลายแม่โพสพ แม่ธรณีและแม่คงคา ไม่ว่าจะโดยความโง่เขลาและความโลภ ใช้สารเคมี ทำให้ข้าวกลายเป็นสินค้า ภูมิใจกับการที่ส่งออกเป็นที่หนึ่งของโลก แต่ชาวนาไม่กล้ากินข้าวที่ตัวเองปลูก เพราะมีสารพิษ" นายเดชา กล่าว และว่า ชาวนาส่วนใหญ่ทำลายดินจนเสื่อมโทรมลงทุกวัน กรณีนี้มีงานวิจัยของสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับความสมบูรณ์ของหน้าดินที่เกี่ยวพันกับความรุ่งเรือง ล่มสลายของอาณาจักรโบราณ เช่น อาณาจักรเปอร์เซีย กรีก โรม จีนและอินเดีย ในช่วงรุ่งเรืองหน้าดินมีความอุดมสมบูรณ์มาก และเสื่อมลงเรื่อยๆ พร้อมอาณาจักรที่ล่มสลาย เป็นความเกี่ยวข้องที่ชัดเจนและมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ ขณะเดียวกันสุขภาพของประชาชนบนผืนแผ่นดินก็เสื่อมตามไปด้วย ทั้งโรคภัยไข้เจ็บและศีลธรรม

นายเดชา กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทย "ดิน" ของเราเสื่อมลง เป็นพิษ ประชาชนสุขภาพกายและจิตแย่ลงเรื่อยๆ บ้านเมืองเดือดร้อน เกิดปัญหาสารพัด เกี่ยวข้องหรือไม่กับการที่ชาวนาทำลายดิน ทำลายข้าว ทำลายน้ำ ซึ่งหากมองในทางวิทยาศาสตร์ คือ การบำรุงหน้าดินให้สมบูรณ์ เพื่อความอยู่รอดของประชาชนชาวไทยและประเทศไทย แต่ขณะนี้มีแต่คนยุยงส่งเสริมให้ชาวนาทำลายดิน ทำลายน้ำ ทำลายทุกอย่าง ให้ชาวนาโลภ โกรธและหลง ใช้ชาวนาเป็นเครื่องมือในการขึ้นสู่อำนาจ ขึ้นสู่ผลประโยชน์

"ทุกคนไม่ควรนิ่งเฉย เพราะปัญหาดังกล่าวนี้เป็นการทำลายชาติอย่างแท้จริง เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะช่วยให้ชาวนาอยู่รอด โดยเปลี่ยนไปบำรุงรักษาแม่ธรณี แม่โพสพและแม่คงคาให้อุดมสมบูรณ์ ถ้าคิดถึงข้าว คิดถึงชาวไทย ต้องคิดถึงชาวนาด้วย ไม่ใช่แค่เพื่อให้ชาวนาอยู่รอด แต่เพื่อความอยู่รอดของทุกคนและประเทศชาติ"

เรื่องเร่งด่วน  เลิกมอมเมาชาวนา

นายเดชา กล่าวถึงการแก้ปัญหาของชาวนาที่ยั่งยืนและชาวนามีศักดิ์ศรีว่า ชาวนาต้องช่วยเหลือตัวเอง นโยบายใดก็ตามที่สนับสนุนให้ชาวบ้าน ชาวนาพึ่งพาผู้อื่นเท่ากับว่าผิดตั้งแต่ต้น การจะพึ่งตัวเองได้ ต้องมีความเข้มแข็ง มีความรู้ มีปัญญา มีเทคนิคและมีกลุ่มก้อนที่จะช่วยเหลือกันได้ นโยบายต้องสนับสนุนให้เกิดปัญญา ไม่ใช่ใช้เงินอุดอย่างเดียว

"ถ้าใช้เงินอุด ก็ต้องอุดไม่เลิก เลิกเมื่อใดก็ตาย ระหว่างอุดก็ไม่รู้จะรอดหรือไม่ จะเลิกอุดหนุนก็ไม่ได้ เพราะประชาชนเริ่มจะเดินเองไม่เป็นแล้ว ฉะนั้น หากรัฐบาลรักประชาชน รักชาวนาจริง ต้องรักลูกให้ถูกทาง สอนให้ลูกพึ่งตัวเองได้ ทำงานเป็น การตามใจทุกอย่างเป็นการรักลูกไม่ถูกทาง สอนลูกให้เป็นโจร"

นายเดชา กล่าวด้วยว่า แต่เดิมชาวนาช่วยเหลือตัวเองได้อยู่แล้ว รัฐบาลต้องนำบทเรียนจากชาวนากลุ่มนั้นมาขยายผล เป็นกระบวนการที่ไม่ต้องใช้เงินด้วยซ้ำ ต่างกับการจ่ายเงินจำนวนมากไปกับการจำนำข้าวอย่างน้อยปีละ 300,000 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งไม่ได้คืน อีกทั้งต้องขาดทุนอย่างน้อยปีละ 100,000 ล้านบาท เรียกว่าได้ไม่คุ้มเสีย

"การจะแก้ปัญหาให้ชาวนา ต้องเริ่มแก้ที่ต้นเหตุ เพราะการแก้ราคาต่ำให้สูงขึ้นนั้นเป็นปลายเหตุ เรื่องเร่งด่วน ต้องเลิกมอมเมาชาวนา เหมือนกรณีบุหรี่ หากเลิกมอมเมาคนก็เลิกสูบไปได้มากขึ้น รัฐบาลจึงต้องป้องกันการมอมเมาเกษตรกร ไม่ว่าจะโดยนโยบาย ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยเคมี ที่ทำให้ชาวนามองไม่เห็นทางออก เพราะตามืดบอด"


ข่าวที่เกี่ยวข้อง