นักวิจัย คาดอาเซียนอาจขาดแคลนอาหารรุนแรงจากการกักตุนสินค้าของกลุ่มธุรกิจค้าปลีก

เศรษฐกิจ
17 พ.ค. 55
01:58
18
Logo Thai PBS
นักวิจัย คาดอาเซียนอาจขาดแคลนอาหารรุนแรงจากการกักตุนสินค้าของกลุ่มธุรกิจค้าปลีก

นักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมคาดการณ์ว่า ภูมิภาคอาเซียนอาจประสบภาวะขาดแคลนอาหารรุนแรง จากการกักตุนสินค้าโดยกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่เข้ามาควบคุมกลไกการตลาด โดยเฉพาะในภาวะพิบัติภัยธรรมชาติ

นักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมจากมูลนิธิชีววิถี เปิดเผยในการประชุมสมัชชาวิชาการความมั่นคงทางอาหารประจำปี 2555 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่าในช่วงวิกฤตน้ำท่วมที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า ปัญหาเรื่องการกักตุนสินค้าโดยกลุ่มธุรกิจโมเดิร์นเทรด หรือ กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ระบบกระจายอาหารของไทยประสบปัญหาอย่างรุนแรง เพราะทำให้สินค้าขาดตลาด ซึ่งตรงข้ามกับภาวะปกติที่มีอำนาจทางการตลาดมากกว่าธุรกิจค้าปลีกขนาดย่อย

นอกจากนี้ การเปิดเสรีการค้า ยังทำให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่มีอัตราการเติบโตมากขึ้นถึงร้อยละ 33 โดยเฉพาะในรูปแบบของซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีสัดส่วนสินค้าอาหารกว่าร้อยละ 70 ส่งผลให้มูลค่าทางการตลาดของร้านค้าปลีกขนาดย่อย ลดลงเหลือ 220,000 ล้านบาท ขณะที่โมเดิร์นเทรดมีมูลค่ากว่า 600,000 ล้านบาท

น.ส.รพิจันทร์ ภูริสัมบรรณ นักวิจัยจากมูลนิธิชีววิถี ยังเสนอว่า ควรพัฒนาทางเลือกของตลาดค้าปลีก เพื่อกระจายความเสี่ยง และสร้างความหลากหลายทางอาหาร และจัดระเบียบคลังสินค้าใหม่ โดยให้รัฐเข้าไปมีอำนาจในการตรวจสอบมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาระบบการพึ่งพาตัวเองในชุมชน ซึ่งจะช่วยลดภาวะขาดแคลนอาหารเมื่อเกิดภัยพิบัติ และที่สำคัญต้องผลักดันให้เกิดกระบวนการปฏิรูปกฎหมายเพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรม เช่น ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จัดการประชุมสมัชชาวิชาการความมั่นคงทางอาหาร เป็นการแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาของกลุ่มเกษตรกรรายย่อย และภาคประชาสังคมที่ประสบปัญหาด้านการผลิตและการถูกเอาเปรียบจากกลุ่มทุนเกษตรอุตสาหกรรม และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้น เพื่อหาทางรับมือ และเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงด้านการค้า และภัยธรรมชาติ ซึ่งจะมีการรวบรวมข้อเสนอแนะเพื่อผลักดันสู่การแก้ไขให้แก่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง