รำลึกครูเนรมิตผู้สร้างตำนานผู้ชนะสิบทิศ

Logo Thai PBS
รำลึกครูเนรมิตผู้สร้างตำนานผู้ชนะสิบทิศ

แค่เอ่ยชื่อทั้ง โบตั๋น เรือนแพ และรอยไถ ก็ล้วนเป็นที่จดจำของผู้ชมภาพยนตร์ตัวจริง นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสำเร็จในงานกำกับภาพยนตร์ของครูเนรมิต ที่ในโอกาสครบรอบ 10 ทศวรรษ ยังมีมุมมองจากลูกศิษย์ถึงศิลปินแห่งชาติท่านนี้ในฐานะครู และผู้สร้างตำนานผู้ชนะสิบทิศทั้ง 3 ภาคด้วย

บทรำพึงรำพัน สัญญารักไม่มีหน่าย แม้ต้องห่างไปออกศึกของจะเด็ด ทหารรูปงามคารมดี กับตะละแม่จันทรา อีกฉากหนึ่งในภาพยนตร์ผู้ชนะสิบทิศที่หาชมได้ยาก เพราะออกฉายตั้งแต่ 40 ปีก่อน โดยได้นักแสดงฝีมือดี อย่าง ไชยา สุริยัน, กรุณา ยุวกร และพิศมัย วิไลศักดิ์ มาสวมบทบาท บทประพันธ์ชั้นเยี่ยมของยาขอบ นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ถูกนำไปผลิตหลายต่อหลายครั้งในรูปแบบละคร และละครเวที โดยเฉพาะภาพยนตร์ที่ได้ครูเนรมิตกำกับทั้ง 3 ภาคอย่างพิถีพิถัน

ส่วนหนึ่งของความอลังการ และสมจริงทั้งฉากหลัง นักแสดง และบทบาทบู๊ทะลุจอเงินมาจากผู้กำกับอำนวย กลัสนิมิ ที่มีอุปนิสัยหนักเอาเบาสู้ เรียนรู้การกำกับหนังด้วยตัวเอง จนสามารถกำกับทุกฉากได้ลุล่วงดั่งใจราวกับเสกสรรค์จนได้รับฉายาเนรมิต

แม้ครูจากไป 7 ปีแล้ว แต่ฝีไม้ลายมือของศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ผู้สร้าง และกำกับภาพยนตร์ปี ประจำปี 2538 คงพอบอกได้ถึงคุณูปการที่สร้างไว้ทั้งการบุกเบิกภาพยนตร์ไทยขนาด 16 มม. วางรากฐานภาพยนตร์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ขาดแคลนทั้งอุปกรณ์ และเงินทุน รวมถึงการปั้นเพชรเม็ดงามขึ้นในวงการบันเทิง เช่น ส.อาสจินดา, สุพรรณ บูรณพิมพ์, ดอกดิน กัญญามาลย์, จุรี โอศิริ และสองศิลปินแห่งชาติ  พิศมัย วิไลศักดิ์ และ สุประวัติ ปัทมสูต

การจัดฉายผู้ชนะสิบทิศทั้ง 3 ตอนทั้งยอดขุนพล บุเรงนองลั่นกลองรบ และถล่มหงสาวดี จึงไม่เพียงนำภาพยนตร์เก่าที่มีคุณค่าออกสู่สายตาประชาชนอีกครั้ง แต่การจัดกิจกรรมจัดงาน ก้าวสู่ 10 ทศวรรษ ครูเนรมิต ผู้ชนะสิบทิศ มีทั้งการเสวนา พร้อมนิทรรศการให้ความรู้ของนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาการสื่อสารการตลาด มหาวิทยาลัยนเรศวร ครั้งนี้ ยังสะท้อนว่าคนรุ่นหลังพร้อมเรียนรู้แนวทางจากผู้บุกเบิก ศิลปินแห่งชาติผู้สร้างตำนานผู้ชนะสิบทิศ  


ข่าวที่เกี่ยวข้อง