กลุ่มแพทย์ชนบท ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบ "รมว. - ปลัด สธ." ส่อทุจริต

สังคม
19 มิ.ย. 55
12:00
12
Logo Thai PBS
กลุ่มแพทย์ชนบท ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบ "รมว. - ปลัด สธ." ส่อทุจริต

เครือข่ายแพทย์ชนบท และภาคประชาชน ยื่นหนังสือให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และวุฒิสภา ตรวจสอบการทำหน้าที่ของปลัด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หลังตรวจสอบพบพฤติกรรมส่อเจตนาเอื้อให้เกิดการทุจริต งบประมาณไทยเข้มแข็งปี 2555 และงบค่าเสื่อมของสถานพยาบาล

ชมรมแพทย์ชนบท และภาคประชาชน กว่า 50 คน เข้ายื่นหนังสือต่อนายประวิช รัตนเพียร ผู้ตรวจการแผ่นดิน เรียกร้องให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ยืนยันความจำเป็นในการใช้งบประมาณ โครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือ ดีพีแอล ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ปี2555 จำนวนกว่า 3,426 ล้านบาท ต่อคณะรัฐมนตรี หลังได้รับการแจ้งเตือนมาแล้วถึง 3 ครั้ง จนกระทั่งกระทรวงการคลังขีดเส้นตายให้ยืนยันความจำเป็น ครั้งสุดท้ายในวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยหากไม่ยืนยัน จะจัดสรรงบประมาณส่วนนี้ไปให้โครงการอื่นของรัฐบาล แต่ผู้บริการทั้ง 2 คนเพิกเฉย

ขณะที่สถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกว่า 900 แห่งทั่วประเทศ ขาดงบประมาณที่จะมาลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ที่มีความจำเป็นต่อการให้รักษาผู้ป่วย มานานกว่า 10 ปี ขณะเดียวกันในปี 2555 กระทรวงฯ ก็ไม่ได้ตั้งเรื่องของบประมาณจัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ เพราะเห็นว่าจะได้รับงบประมาณจากโครงการ ดีพีแอล อยู่แล้ว ส่งผลให้สถานพยาบาลในชนบทจำนวนมากขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นในรักษาผู้ป่วยในขณะนี้

นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยอีกว่า การบริหารงบประมาณลงทุนคือค่าเสื่อมระดับประเทศของปลัดสาธารณสุข ใช้งบประมาณโดยไม่มีประสิทธิภาพ มีเจตนาเอื้อให้เกิดการทุจริต ซ้ำรอยกรณีโครงการไทยเข้มแข็งครั้งที่่๋ผ่านมา เช่นตั้งงบประมาณจัดซื้อเครื่องซักผ้าระบบอุโมงค์ในราคา 39.3 ล้านบาท ซึ่งแพงกว่า การจัดซื้อของวชิรพยาบาลก่อนหน้านี้ ที่จัดซื้อได้ในราคา 34 ล้านบาท แต่ก็ยังถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษเข้าไปตรวจสอบเพราะส่อเค้าการทุจริต จัดซื้อในราคาแพงเกินจริง และการจัดซื้อเครื่องวัดปริมาณเชื้อไวรัสกว่า 5 เครื่อง ในราคาเครื่องละ 8.5 ล้านบาท ขณะที่หน่วยงานอื่นจัดซื้อได้ในราคา 3.5-4.3 ล้านบาท

นอกจากนี้เครือข่ายชมรมแพทย์ชนบท ยังไปยื่นหนังสือดังกล่าว ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และวุฒิสภา เพื่อให้ร่วมตรวจสอบอีกด้วย
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง