หลายฝ่ายเชื่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ทำให้การเมืองถึงทางตัน

3 ก.ค. 55
14:13
9
Logo Thai PBS
หลายฝ่ายเชื่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ทำให้การเมืองถึงทางตัน

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และ อดีต ส.ส.ร. ปี 2550 วิเคราะห์แนวทางการวินิจฉัยคดีแก้รัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญต่างกัน แต่เชื่อว่า ผลแห่งการวินิจฉัยจะไม่เป็นเหตุให้การเมืองถึงทางตัน เพราะในคำวินิจฉัยจะเสนอแนะแนวทางให้กับผู้ร้อง และ ผู้ถูกร้องอย่างเป็นธรรม โดยกรอบการวินิจฉัยคำร้องตามมาตรา 68 หากเทียบเคียงกับบทบัญญัติและสถานการณ์แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญ อาจวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ก่อนที่จะวินิจฉัยคำร้องกรณีการล้มล้างการปกครอง

ขั้นตอนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญตามคำร้องของ ส.ว. ส.ส. และ เครือข่ายภาคประชาชน รวม 5 คำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 กรณีกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญด้วยการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปี 2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือไม่นั้น

ประเด็นแรกคาดว่า ศาลจะต้องวินิจฉัยในอำนาจหน้าที่ก่อน โดยอ้างอิงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ซึ่งต้องวินิฉัย 2 กรณี คือ ผู้ที่ทราบถึงการกระทำล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยจะต้องยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หรือ ผู้ที่ทราบการกระทำสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการได้โดยตรง

หากศาลวินิจฉัยว่า ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดก่อน ถือว่า ยกคำร้อง และ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะกลับสู่กระบวนการทางนิติบัญญัติ พิจารณาลงมติวาระ 3 ได้ทันที แต่ถ้าศาลวินิจฉัยว่า ยื่นโดยตรงได้ เท่ากับว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเริ่มกระบวนการเบิกความไต่สวนข้อเท็จจริงจากพยาน ด้วยประเด็นตามคำร้องว่า กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญเข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ โดยประมวลและพิเคราะห์จากพยาน ทั้งฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้อง หรือ ศาลจะใช้ดุลยพินิจสั่งการเบิกความพยานฝ่ายใดและบุคคลใดต่อไป

ทั้งนี้ มาตรา 68 วรรค 3 ระบุว่า กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการที่เข้าข่ายการล้มล้างการปกครองอาจสั่งให้ยุบพรรคการเมืองได้ และ การสั่งยุบพรรคยังเชื่อมโยงไปวรรค 4 ของมาตรานี้ คือ ศาลให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ทั้งหัวหน้า และ กรรมการบริหารพรรคนั้นด้วย

ข้อมูลทั้งหมดสอดคล้องกับความเห็นของ รศ.ยุทธพร อิสระชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ที่เชื่อว่า ศาลจะต้องวินิจฉัยขอบเขตอำนาจการพิจารณาคดีก่อนเดินหน้าวินิจฉัยประเด็นตามคำร้อง แต่โดยกระบวนการไม่น่าจะแล้วเสร็จโดยพลัน

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เชื่อว่า ผลแห่งคดีจะไม่ทำให้สถานการณ์การเมืองถึงทางตัน โดยเฉพาะเหตุให้ต้องยุบพรรค

ขณะที่ ศ.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิตด้านรัฐศาสตร์ มั่นใจว่า กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญเป็นอำนาจโดยชอบของรัฐสภา แต่ยอมรับว่า หากผลการวินิจฉัยเข้าข่ายกระทำการล้มล้างการปกครอง ย่อมสะเทือนถึงเสถียรภาพของรัฐบาล 

ไม่เพียงความเห็นของนักวิชาการ 3 คนที่ต่างมุมมอง แต่เชื่อเหมือนกันว่า ผลแห่งคดีจะไม่เป็นเหตุให้การเมืองถึงทางตัน โดยเฉพาะคำวินิจฉัยจะต้องเสนอทางออกให้กับทั้งฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องอย่างเป็นธรรม เช่นเดียวกับกระแสที่ลือว่าทั้ง 2 ฝ่ายกำลังถอยคนละก้าว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง