จับตาคำวินิจฉัยคดีแก้ รธน.ของศาล รธน.ท่ามกลางกระแสตุลาการศาลมีส่วนได้เสียกับคดี

7 ก.ค. 55
15:06
9
Logo Thai PBS
จับตาคำวินิจฉัยคดีแก้ รธน.ของศาล รธน.ท่ามกลางกระแสตุลาการศาลมีส่วนได้เสียกับคดี

ก่อนถึงวันที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคดีแก้รัฐธรรมนูญ วันที่ 13 กรกฎาคม มีข้อสังเกตถึงกระแสกดดันศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดี โดยเฉพาะเป้าหมายที่จะทวงถามถึงความชอบธรรมในการพิจารณาคดีของ 3 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนได้ส่วนเสียกับคดี

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธคาดเดาผลของการวินิจฉัยคดีแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกรณีเชื่อมโยงความผิดยุบพรรคเพื่อไทย เพราะอาจกลายเป็นเงื่อนไขสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลแล้ว ยังกล่าวย้ำว่าจะไม่นำผลแห่งคดีมาเป็นปัจจัยพิจารณาปรับ ครม. แต่ตีกันบทบาทหน้าที่ทันทีว่า "วันนี้ขั้นตอนต่างๆ ผ่านคณะรัฐมนตรีไปแล้ว ก็คงเป็นเรื่องของรัฐสภาต่อไป

ขณะที่ฝ่ายผู้ร้อง พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ยืนยันว่าจะยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทุกประการ ไม่ต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หากแต่กล่าวเพิ่มเติมว่า ศาลรัฐธรรมนูญควรแจกแจงเหตุผลของคำวินิจฉัยให้ละเอียด เพื่ออุดช่องว่างของการถูกโจมตี พร้อมกันนี้ก็เรียกร้องมวลชนเห็นต่างยุติการเคลื่อนไหวกดดันศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนพรรคเพื่อไทย ในฐานะฝ่ายผู้ถูกร้องเน้นย้ำให้ ส.ส.เดินสายทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะไม่เพียงพรรคเท่านั้นที่ต้องยอมรับในคำวินิจฉัย แต่มวลชน และฐานเสียงของพรรคก็ควรยอมรับผลของคดีเช่นกัน ขณะเดียวกันคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรค กลับชี้ว่า การซักค้านที่เกิดขึ้น ไม่ใช่หลักวิชาการ หลักกฎหมาย แต่เป็นเจตคติแบบริษยา และมีธงทางการเมือง

รศ.ยุทธพร อิสรชัย คณบดีรัฐศาสตร์ มสธ.ประเมินผลการไต่สวนแล้วเชื่อว่า ทั้ง 2 ฝ่ายยืนอยู่บนความรู้สึก และการคาดการณ์ อาจเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องเสาะหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม จึงจะพิเคราะห์ และวินิจฉัย เพื่อสร้างบรรทัดฐานได้ แต่ก็ยอมรับว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องเผชิญกับแรงเสียงทานรอบด้าน และอาจกระทบถึงผลของการวินิจฉัย เนื่องจากบริบทของศาลรัฐธรรมนูญก็ถือเป็นศาลทางการเมืองเช่นกัน

ไม่ว่าผลการวินิจฉัยคดีจะออกมาเป็นลบ หรือ บวกกับฝ่ายผู้ถูกร้อง มีข้อสังเกตว่าย่อมต้องมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยเฉพาะห้วงเวลาการพิจารณาคดีผูกโยงกับจังหวะ และการตัดสินใจปรับ ครม.ขณะเดียวกันการเบิกความไต่สวน หรือ คลิปพยานหลักฐาน รวมถึงคลิปเสียงประธานรัฐสภา ก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อตำแหน่งผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติได้

แต่หากผลการวินิจฉัยคดีเป็นลบ ก็มีข้อกังวลต่อสถานการณ์ของบ้านเมืองเกิดขึ้น หลังนางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช.ประกาศให้แนวร่วมเตรียมพร้อมเคลื่อนไหวไม่น้อยกว่า 300,000 คน เพื่อแสดงกริยาไม่ยอมรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สอดคล้องกับกระแสว่า มีการวางยุทธศาตร์ผลิกคดีด้วยการทวงถามความชอบธรรมของ 3 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับคดี ประกอบกับแหล่งข่าวในศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า หลังนายจรัญ ภักดีธนากุล ถอนตัวจากการพิจารณาคดี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 8 คนวิตกกับการลงมติที่อาจเป็น 4 ต่อ 4 เสียง และท้ายที่สุดต้องยกประโยชน์ให้จำเลย แต่ 7 วันนับจากนี้ ก็มีกระแสเตรียมรับมือไว้เช่นกัน เพราะถ้า 3 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขอถอนตัว ก็จะเหลือ 5 เสียง จนกลายเป็นการคาดคะเนว่า มติไม่ต่างจากวันรับคำร้องโดยมีเสียงข้างน้อยคงที่ไว้ 1 เสียง หากแต่ผลการวินิจฉัยที่ไม่ต้องคาดเดา ศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัยแล้ว 13 กรกฎาคมนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง