รอยร้าวในวัฒนธรรมมลายู

Logo Thai PBS
รอยร้าวในวัฒนธรรมมลายู

วัฒนธรรมที่คล้ายกันมากก็สร้างปัญหาระหว่างประเทศอยู่บ่อยๆ เช่นกรณีล่าสุดมาเลเซียประกาศขึ้นทะเบียนศิลปการแสดงพื้นบ้านเป็นมรดกชาติ สร้างความไม่พอใจให้กับอินโดนีเซีย เพราะอ้างสิทธิในวัฒนธรรมนี้เช่นกัน

ท่ารำอันงดงามอ่อนช้อยเข้ากับจังหวะกลองที่เรียกว่าการเต้นแบบตอร์ตอร์ และการแสดงตีกลองพิธีกรรม 9 ใบอย่างพร้อมเพรียงในชื่อกอร์ดัง แซมบิลัน ที่ทางการมาเลเซียนำไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกชาติ กลับกลายเป็นชนวนความขัดแย้งครั้งใหม่กับเพื่อนบ้านอินโดนีเซีย ที่อ้างในสิทธิวัฒนธรรมนี้เช่นกัน

หลายปีก่อนหน้านี้  ทั้งคู่เคยอ้างกรรมสิทธิ์เหนือศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้ง ดนตรีพื้นบ้าน ผ้าบาติก และอาหารท้องถิ่นอย่างแกงเนื้อเร็นดัง ความคล้ายคลึงทางด้านวัฒนธรรมจนแทบแยกไม่ออกเช่นนี้ มีที่มาจากทั้ง 2 ชาติ ต่างมีรากวัฒนธรรมเดียวกันคือมลายู

ห้วงเวลาที่มาเลเซียโหมกระตุ้นการท่องเที่ยวเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว และใช้เพลงราซา ซายัง ประกอบภาพยนตร์โฆษณาส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านสื่อทั่วโลก สร้างความไม่พอใจให้กับอินโดนีเซีย โดยอ้างว่าเป็นเพลงพื้นบ้านที่แสดงถึงวัฒนธรรมของชาวมาลูกูในอินโดนีเซีย แต่ในที่สุดความขัดแย้งจากบทเพลงก็คลี่คลาย  ทั้ง 2 ประเทศยกให้เพลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมภูมิภาคมลายู    

รายได้มหาศาลจากการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แต่ละประเทศตีตรามรดกทางวัฒนธรรม จนกลายเป็นปมขัดแย้งอยู่บ่อยๆ เช่น ไทยกับกัมพูชา กรณีขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรม ท่ารำ และหนังเงา หากไม่มองปัญหาด้วยความเข้าใจในที่มาซึ่งมีรากวัฒนธรรมร่วมกัน ย่อมนำไปสู่ความบาดหมาง ยากที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาคมอาเซียน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง