เครือข่ายเกษตรกรรมฯ –เครือข่ายผู้บริโภค ค้านไม่ขึ้นทะเบียนสารเคมี 4 ประเภท

Logo Thai PBS
เครือข่ายเกษตรกรรมฯ –เครือข่ายผู้บริโภค ค้านไม่ขึ้นทะเบียนสารเคมี 4 ประเภท

เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและเครือข่ายผู้บริโภค เรียกร้องกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการวัตถุอันตราย ออกประกาศห้ามใช้และไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีเมโทมิล และ สารเคมีอีก 3 ประเภท เนื่องจากมีผลการศึกษาที่ระบุชัดเจนว่าเป็นสารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค

นางสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยรายงานผลตรวจผักที่นิยมบริโภคในครัวเรือน 7 ประเภทได้แก่ กะหล่ำปลี คะน้า ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ผักชี และพริกจินดา ที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง พบว่ามีผัก2 ชนิดปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้แก่ ถั่วฝักยาวมีการปนเปื้อนของสารคาร์โบฟูรานและสารเมโทมิล และผักชี พบสารคาร์บาเนตและคาร์โบฟูราน

ด้านนายวิฑูรย์ เลียนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี บอกถึงเหตุผลที่บริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืชรายใหญ่ของโลก กดดันให้กรมวิชาการเกษตร ขึ้นทะเบียนสารเคมี เมโทมิล โดยอ้างว่า หากไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียน เกษตรกรจะไม่มีสารเคมีใช้ในการกำจัดศัตรูพืช สร้างผลกระทบต่อการส่งออกผักและผลไม้ของไทย โดยเฉพาะการส่งออกมะม่วงไปประเทศญี่ปุ่นนั้นไม่เป็นความจริง เพราะยังมีสารเคมีและสารชีวภาพอีกกว่า 10 ชนิด ที่สามารถใช้ทดแทนสารเคมีตัวนี้ได้ โดยเป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า

ส่วนเหตุผลที่บอกว่า สารดังกล่าวมีราคาแพงขึ้นเป็น 2 เท่า เป็นเพียงข้ออ้างและกลยุทธ์ทางการค้าของธุรกิจสารเคมี เนื่องจากที่ผ่านมา ระหว่างเดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2554 มีการนำเข้าสารดังกล่าวกว่า 2.4 ล้านกิโลกรัม ซึ่งมากกว่าปี 2553 ทั้งปีที่นำเข้าเพียง 1.5 ล้านกิโลกรัม ขณะนี้ ขอให้สังคมร่วมกันจับตาการวิ่งเต้นขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายของธุรกิจสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 1 ปีเท่านั้น นอกจากนี้พบว่ามีการนำเข้าสารเคมีชนิดนี้ ระหว่างเดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2554 จำนวนกว่า 2.4 ล้านกิโลกรัม ซึ่งมากกว่าปี 2553 ที่ตลอดทั้งปีนำเข้า 1.5 ล้านกิโลกรัม

ปัจจุบัน เมโทนิล เป็นสารเคมีอันตรายที่กลุ่มประเทศอาเซียน อย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย และกัมพูชา ประกาศห้ามใช้และไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียน เช่นเดียวกับในยุโรป นอกจากสหรัฐอาณาจักร เยอรมันนี ฟิลแลนด์ ที่ห้ามใช้มาก่อนหน้านี้แล้ว ล่าสุด กลุ่มประเทศสมาชิกของอียูทั้งหมด ยังประกาศถอนสารดังกล่าวตั้งแต่ต้นปี 2552

ทั้งนี้ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายผู้บริโภค และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จึงเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการวัตถุอันตราย ออกประกาศห้ามใช้และไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนเมโทมิล รวมถึง สารเคมีอีก 3 ประเภท ได้แก่ คาร์โบฟูราน, ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น เพื่อปกป้องอันตรายด้านสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภค และผลกระทบต่อตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง