ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ย้อนรอย คดี "ธนาคารกรุงไทย" ปล่อยกู้ "กฤษดามหานคร"

25 ก.ค. 55
15:25
271
Logo Thai PBS
ย้อนรอย คดี "ธนาคารกรุงไทย" ปล่อยกู้ "กฤษดามหานคร"

วันนี้ (25 ก.ค.) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประทับรับคำฟ้องสำนวนคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้กับบริษัท กฤษฎามหานคร ซึ่งอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมพวกรวม 27 คน ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา โดยศาลจะนัดไต่สวนในวันที่ 11 ตุลาคม 2555

<"">
<"">

ยุคหนึ่งในวงการอสังหาริมทรัพย์ไทยนักลงทุนบางส่วนพยายามกว้านซื้อที่ดินเพื่อรองรับโครงการใหม่ ๆ บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ บริษัท กฤษฎามหานคร ก็เป็น 1 ในนั้น แต่เมื่อโครงการที่ถูกนักการเมืองวาดฝันไว้ ไม่เป็นจริง ทำให้บริษัทขาดสภาพคล่องอย่างหนัก

บริษัท กฤษฎามหานคร จึงขอกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย และได้รับการอนุมัติ 9,900 ล้านบาท เมื่อปี 2546 ทั้งที่ ฝ่ายกลั่นกรองสินเชื่อธุรกิจ จัดอันดับความเสี่ยงสูงสุด คือ ไม่สามารถอนุมัติเงินกู้ได้

ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. พบว่า การปล่อยกู้ครั้งนั้นซับซ้อน และไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ แต่กลับนำไปขยายการลงทุน และเพิ่มราคาหุ้น ทั้งที่ บริษัทกำลังประสบปัญหาสภาพคล่อง

คตส.ระบุว่าในการปล่อยกู้นี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจหน้าที่และความสัมพันธ์ส่วนตัวกับบริษัทกฤษฎามหานคร กดดันให้คณะกรรมการบริหารของธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของกระทรวงการคลังปล่อยกู้ จนเกิดความเสียหายไม่ต่ำกว่า 5,200 ล้านบาท

นอกจากนักธุรกิจในเครือบริษัทกฤษดามหานครที่ได้รับประโยชน์ นายพานทองแท้ ชินวัตร ก็ได้รับเงินจากการปล่อยกู้ที่ผิดปกติครั้งนี้ด้วย โดยนายพานทองแท้ได้รับเช็คจากลูกชายของผู้บริหารกฤษดามหานคร เพื่อร่วมทำธุรกิจอื่น ทั้งนี้นายพานทองแท้เคยปฏิเสธ และระบุโอนเงินกลับคืนให้แล้ว

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เคยทำการศึกษาเชิงลึกเรื่องรูปแบบการทุจริตเชิงนโยบาย พบว่า กลุ่มการเมืองต้องการกุมอำนาจหน่วยงานที่บริหารเศรษฐกิจทั้งหมด ตั้งแต่กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ล้วนเป็นองค์กรที่สำคัญในการกำหนดนโยบายการเงินการลงทุนของประเทศ โดยไม่คำนึงถึงข้อกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลที่เกี่ยวข้อง

รายงานจากแวดวงนักการเงินรายหนึ่ง ระบุว่า แม้ธนาคารแห่งประเทศชาติจะมีกฎหมายลดการแทรกแซงจากนักการเมือง และกำหนดเงื่อนไขป้องกันความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ แต่ทุกครั้งที่รัฐบาลต้องเร่งสร้างผลงาน แสดงตัวเลขขยายตัวทางเศรษฐกิจ การกำกับดูแล และช่องโหว่ที่มีอยู่ในขั้นตอนปฏิบัติ ก็มักเกิดขึ้นเสมอ

ทั้งนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้อง และนัดไต่สวนคดีในวันที่ 11 ตุลาคมนี้ ซึ่งคดีนี้เหลืออายุความอีกไม่ถึง 5 ปี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง