คอป.ชี้ 2 ฝ่ายมีส่วนร่วมก่อเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 53-เริ่มก้าวแรกสู่แผนปรองดอง

17 ก.ย. 55
14:40
49
Logo Thai PBS
คอป.ชี้ 2 ฝ่ายมีส่วนร่วมก่อเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 53-เริ่มก้าวแรกสู่แผนปรองดอง

คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป.แถลงผลการดำเนินงานฉบับสมบูรณ์ โดยสาระสำคัญมีการชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง โดยเฉพาะเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2553 ซึ่งพบว่า มีชายชุดดำเกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น และชี้ว่า ฝ่ายรัฐและทหารผู้ปฏิบัติการมีความผิดพลาดบกพร่อง โดยเฉพาะการใช้อาวุธและกระสุนจริง แต่ด้วยเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น คอป.ได้ชี้แจงรากเหง้าของปัญหาและข้อเสนอในการสร้างความปรองดอง

 

<"">
 
<"">

ตลอดการแถลงรายงานฉบับสมบูรณ์คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. เกือบ 3 ชั่วโมง ใน 351 หน้า โดยสาระสำคัญสรุปได้ว่า เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ปี 2553 มีคนชุดดำปรากฎตัวขึ้นจริง และ มีอาวุธสงครามเพื่อโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ โดยพบว่า เจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิตจากกลุ่มชายชุดดำ แต่ไม่พบกรณีผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากชายชุดดำ พร้อมกันนั้นยังพบว่า คนในชุดดำมีความใกล้ชิดกับ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก

โดยพบว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เมษายน ปี 2553 มีคนชุดดำร่วมก่อเหตุความรุนแรง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการ์ด นปช. และ เหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ถนนราชปรารภเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ปี 2553 การปฏิบัติการของคนชุดดำมีการ์ด นปช.รู้เห็นเป็นใจด้วย แต่ไม่พบหลักฐานว่า เกี่ยวข้องกับแกนนนำ นปช.

ทั้งนี้ คอป.สรุปว่า แกนนำนปช.สนับสนุนการใช้ความรุนแรง ปลุกระดม และ ไม่ใช้ความพยายามในการป้องกันความรุนแรงที่เกิดขึ้น ขณะที่ทหารผู้ปฏิบัติการไม่มีวุฒิภาวะในการควบคุมฝูงชนมีการใช้อาวุธหนักและมีกระสุนจริง และผู้บังคับบัญชาไม่ตรวจสอบแผนปฏิบัติการว่ามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลหรือไม่ จึงนำมาซึ่งความรุนแรง

 

<"">
 
<"">

คอป.ยังได้แถลงผลการศึกษาวิจัยในเชิงวิชาการโดยแบ่งช่วงของสังคมออกเป็น 3 ส่วน คือช่วงรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่มีเจตนาของการกระจายอำนาจ ความเข้มแข็งในเสถียรภาพของรัฐบาลและองค์กรอิสระที่จะคานอำนาจ ส่วนช่วงรัฐประหาร คือช่วงที่สังคมเกิดความสับสนในหลักประชาธิปไตยและนิติธรรม และ สุดท้ายคือช่วงรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่สังคมต่างมีมุมมองที่ต่างกันและเลือกข้างทางการเมืองชัดเจน ด้วยเหตุนี้คอป.จึงเสนอแนะแนวทางที่จะสร้างความปรองดองด้วยความเข้าใจ

สรุปแล้วนับจากนี้ไปสังคมต้องเชื่อมั่นในหลักนิติธรรม,เดินหน้าพัฒนาความเสมอภาค,เชื่อในระบอบประชาธิปไตย,ทุกฝ่ายต้องแสดงเจตนาเทิดทูนสถาบัน,การแก้รัฐธรรมนูญควรให้ทุกฝ่ายเข้ามามัส่วนร่วม,สื่อต้องเคารพกติกาและทหารอาชีพ ไม่ควรใช้อำนาจบทบาทเกินขอบข่ายกฎหมาย

 

<"">
 
<"">

ส่วนรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้ง คอป. แถลงไล่ลำดับเหตุการณ์ทางการเมืองและภาวะสังคมไทยก่อนและระหว่างใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่เชื่อตรงกันว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่มีจุดแข็งให้เสถียรภาพของรัฐบาลเข้มแข็ง ส่งผลให้เกิดข้อครหา "ทักษิโนมิกส์"ในรัฐบาลพรรคไทยรักไทย จึงนำมาซึ่งเหตุรัฐประหาร

ในยุครัฐบาล คมช. สะท้อนให้เห็นถึงสังคมที่สับสน และมีความเชื่อกันคนละฉบับ โดยมีระบบทุนเก่าเป็นผู้ถือครองอำนาจรัฐ แต่หลังมีรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มีการเลือกตั้ง พรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่สภาวะสังคมในวันนั้น คือการเลือกสีเลือกข้าง ระบบรัฐมี 2 มาตรฐาน และเกิดระบบตุลาการภิวัฒน์ มีการจวบจ้างสถาบัน สื่อเป็นสื่อทางเลือก จึงนำมาซึ่งเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง