แนวทางคำสั่งศาลปกครอง กรณี 3 จี

14 ต.ค. 55
14:58
41
Logo Thai PBS
แนวทางคำสั่งศาลปกครอง กรณี 3 จี

วังอังคารนี้ กสทช.กำหนดว่าจะให้ประมูล เพื่อแข่งขันราคา หาผู้ชนะได้ใบอนุญาตคลื่นความถี่ 3 จี แต่ก่อนจะถึงวันนั้น ยังต้องติดตามคำสั่งศาลปกครองกันอย่างต่อเนื่องว่าจะมีคำสั่งอย่างไรหรือไม่ จึงเหลือเวลาเพียง 1 วัน ก่อนเปิดประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 3 จี แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีคำสั่งใดๆ จากศาลว่าจะคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ และทิศทางของศาลปกครอง ที่จะมีทางออกต่อการพัฒนาคลื่นความถี่ 3 จี

คดีแรกที่ศาลไต่สวนเสร็จสิ้น และให้รอฟังคำสั่งตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา คือคดีนายอนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระ ด้านโทรคมนาคมยื่นฟ้องขอคุ้มครองชั่วคราว ระงับการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3 ที่จะถึงนี้ออกไปก่อน เพื่อขอให้ กสทช. ออกประกาศ หรือกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคให้เสร็จสิ้นก่อนจัดการประมูล โดยเห็นว่าหากไม่มีการประกาศมาตรฐานจะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์หลังเสร็จสิ้นการประมูล

แต่จนถึงขณะนี้ ศาลยังไม่มีคำสั่งใด ซึ่งแม้จะเป็นช่วงวันหยุด แต่หากเป็นคดีสำคัญ เช่น คดีบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอยู เขาพระวิหาร ศาลปกครองเคยมีคำสั่งออกมาในช่วงกลางดึกวันหยุดมาแล้ว หัวใจสำคัญของคำสั่งไม่ได้อยู่เพียงว่าศาลจะ "รับฟ้อง" หรือ "ไม่รับฟ้อง" เท่านั้น แต่ประเด็นหลัก ยังอยู่ที่ จะสั่ง "คุ้มครองชั่วคราว" ด้วยหรือไม่ ตามที่นายอนุภาพ ฟ้อง

ซึ่งหากสั่ง "คุ้มครองชั่วคราว" จะส่งผลให้ การประมูล 3 จี ที่ กสทช.มีกำหนดจัดขึ้น ในวันที่ 16 ตุลาคม ต้องล้มไปทันที และหมายรวมไปถึงเนื้อหาของนายอนุภาพ ที่ยื่นฟ้อง กสทช.ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับด้านโทรคมนาคม ไปแก้ไข หรือประกาศระเบียบเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ต่อศาลปกครอง มีหน้ำหนักมากจนศาลรับไว้

แต่หากศาลมีคำสั่ง "รับฟ้อง" คำร้องของนายอนุภาพ แต่ไม่สั่ง "คุ้มครองชั่วคราว" ทาง กสทช.ก็สามารถเดินหน้าจัดการประมูลตามกำหนดเดิมได้ ควบคู่กับการพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 8 เดือน หรือ 1 ปี

แต่หากศาลมีคำสั่ง "ยกฟ้อง" ก็จะต้องดูสาเหตุว่ายกเพราะอะไร เพราะบางคดี สาเหตุที่ศาลปกครองไม่รับฟ้อง เพราะ "ผู้ฟ้อง" ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง หรือเพราะประเด็นที่ฟ้องไม่อยู่ในความรับผิดชอบ หรือเพราะเนื้อหาคำฟ้องที่ไม่มีน้ำหนัก

แต่สุดท้ายไม่ว่า ผลคำสั่งจะเป็นอย่างไร แต่สำหรับ สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กลับเห็นว่า แม้ กสทช.ควรต้องเร่งผลักดันให้เกิด 3 จี หรือพัฒนาไปถึง 5 จี แต่หัวใจสำคัญ คือต้องทำหน้าที่ด้วยความโปร่งใส เพื่อไม่ให้นำไปสู่การฟ้องร้อง เพราะหากยังเกิดการฟ้องร้อง ก็ย่อมหมายถึง กสทช.ยังวางกฎเกณฑ์ไม่เป็นธรรม และจะยิ่งส่งผลให้คนไทยที่กำลังก้าวสู่การเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 ก็อาจตามโลกยุคโลกาภิวัฒน์ของจริง ได้เฉพาะแค่บางกลุ่มเท่านั้น

มุมมองของ พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย เห็นว่าแม้การพัฒนาเทคโนโลยี 3 จี จะช่วยลดตุ้นทุน เพิ่มศักยภาพ หรือพัฒนาองค์ความรู้ในเชิงธุรกิจ หรือภาคอุตสาหกรรมได้มาก แต่กระบวนการที่ดำเนินการจัดการประมูลครั้งนี้ ก็ต้องการให้เกิดความโปร่งใส และเข้าถึงประชาชนได้ทั่วถึง

ยังคงต้องรอคอยผลคำสั่งศาลปกครองในอีกไม่กี่ชั่วโมงนับจากนี้ ก่อนจะถึงวันที่ 16 ตุลาคม ท่ามกลางกระแสสังคมฟากหนึ่งที่เต็มไปด้วยความคาดหวังว่าจะได้ใช้เทคโนโลยี 3 จี เพื่อให้ได้เข้าถึงข้อมูลที่รวดเร็ว และทำให้ประเทศพัฒนา ซึ่งไทยนับเป็นประเทศรั้งท้ายที่ไม่มี 3 จี ใช้ หากเปรียบเทียบกับภูมิภาคอาเซียน

ในขณะที่สังคมอีกฟากหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า หากเกิดการประมูล 3 จีเสร็จสิ้น แล้วยังเกิดปัญหาสัญญาณโทรศัพท์มือถือยังล่ม ดาวโหลดข้อมูลอินเทอร์เน็ตล่าช้า ราคาค่าใช้บริการไม่เหมาะสม ในขณะที่บริษัทค่ายโทรคมนาคม มีผูกขาดในตลาดเพียง 3 ราย มีผลกำไรในแต่ละปีสูงถึงหลักพันล้าน หรือหมื่นล้านบาท รวมถึงกติกา หรือหลักเกณฑ์ที่ กสทช.นำใช้จัดประมูลครั้งนี้เกิดข้อกังขาในความโปร่งใส ทั้งๆ ที่เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจเต็มในการออกกติกา และควบคุมเรื่องต่างๆ ก็ย่อมไม่เป็นธรรมกับสังคมเช่นกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง