หนังสือทางเลือก LGBT

Logo Thai PBS
หนังสือทางเลือก LGBT

ความเข้าใจที่มีอย่างจำกัด ทำให้นวนิยายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของบุคคลเพศทางเลือกจำหน่ายได้ไม่มาก บางสำนักพิมพ์แค่พออยู่ได้ ในขณะที่หลายแห่งขาดทุนจนปิดตัวไป หากในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติที่เพิ่งผ่านไป ยังพอมีหนังสือแนวนี้ให้เห็นเป็นพื้นที่สื่อกลางระหว่างเพศทางเลือก และคนภายนอกที่อยากจะรู้จักเขา และเธอให้มากขึ้น

นวนิยายอีกเล่มที่เล่าถึงความรักสดใสในวัยเรียนของผู้หญิง 2 คน ผ่านมิตรภาพที่งอกงามขึ้นระหว่างคนเพศเดียวกัน Yes Or No อยากรักก็รักเลยในแบบฉบับนวนิยาย ได้รับความสนใจจากกลุ่มวัยรุ่นไม่น้อยหลังจากชมภาพยนตร์ที่นำเนื้อหาจากหนังสือไปต่อยอดบนแผ่นฟิล์ม

แม้หน้าปก และเนื้อหาภายในจะโรแมนติกไม่ต่างจากนิยายรักชายหญิง แต่เครื่องหมายลูกศร บนสันปก ก็เพียงพอจะสะท้อนเนื้อหาภายในเล่ม ที่ผู้จัดพิมพ์ และผู้อ่านกลุ่มนี้รู้จักกันดีกับหนังสือเฉพาะแนว LGBT ที่ย่อมาจาก เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล และทรานเวสไทน์

การวางจำหน่าย และเผยแพร่หนังสือแนวนี้ แม้ยังมีพื้นที่ไม่มากนัก แต่บ่งบอกถึงเรื่องรสนิยมทางเพศในสังคมปัจจุบัน ซึ่งผู้จัดพิมพ์ยังหวังให้สื่อนี้สร้างความเข้าใจกับคนภายนอก

ฐิติรัตน์ เนียมเปรม คนอ่าน กล่าวว่า บางทีคนส่วนใหญ่ก็อาจจะมองว่าเรื่องแบบ บุคคลเพศที่สามเป็นเรื่องผิดปกติ น่ารังเกียจในสังคม พออ่านก็อาจเปิดใจได้มากขึ้น คนพวกนี้ก็ปกติเหมือนกับเรา ก็แค่เขาไม่ได้ชอบผู้ชายเหมือนกับเรา ก็เป็นคนปกติธรรมดา ไม่ได้เป็นคนโรคจิตหรือป่วยเป็นอะไรเลย

หลายครั้งที่ท้อ จนอยากเลิกตีพิมพ์หนังสือ เพราะเรื่องเพศสภาพเป็นอุปสรรคในการทำงาน นี่เป็นปัญหาที่ ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ เจ้าของสำนักพิมพ์สะพานสีรุ้ง ยังต้องเจอแม้จะผลิต และจำหน่ายหนังสือเพศทางเลือกมานับสิบปีแล้วก็ตาม เธอเล่าว่าหนังสือส่วนใหญ่ต้องสั่งจอง และตีพิมพ์เพียงไม่กี่เล่ม ซึ่งมีหลายครั้งที่จำหน่ายไม่ได้แม้แต่เล่มเดียว และบ่อยครั้งที่ผู้ซื้อเคอะเขินเกินกว่าจะแสดงออกในรสนิยมส่วนตัว

ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ เจ้าของสำนักพิมพ์สะพานสีรุ้ง กล่าวว่า หลายคนเขาจะเดินวนหลายรอบมากนะคะ กว่าจะตัดสินใจเข้ามาได้ เพราะว่าบางคนมันยากกับเขา เขาไม่กล้าเข้ามา เพราะว่าการเข้ามาในนี้มันเหมือนกับว่าเขาเปิดตัวแล้ว ก็จะใช้เวลาตัดสินใจเยอะมาก พี่ก็จะลุ้นเขามาก ไม่กล้าทักด้วยนะ ก็จะมองเขาเดินผ่านไปผ่านมาหลายรอบ

ชัชฎา มูสิกะระทวย เจ้าของสำนักพิมพ์สีม่วงอ่อน กล่าวว่า จริงๆ หนังสือแนวนี้ สำนักพิมพ์นี้เป็นที่แรกที่พิมพ์ เมื่อก่อนไม่มีหนังสือแนวนี้ 7 ปีที่แล้วพิมพ์ออกมาก็ขายยากมาก สายส่งก็ไม่รับ พวกหนังสือหญิงรักหญิงก็วางขายตามร้านไม่ได้ แปลกมากทั้งที่มันก็เป็นความรักเหมือนกัน

คนส่วนใหญ่อาจคิดว่านักเขียนนิยายแนวนี้เป็นเพศทางเลือก หากหลายปีมานี้มีชายจริง หญิงแท้ ที่ศึกษาเรื่องเพศสภาพ และถ่ายทอดเป็นงานเขียน อย่างนวนิยายประเภท Boy Love หรือชายรักชาย ที่ส่วนใหญ่นักเขียนหญิงเป็นผู้ถ่ายทอด หรือที่เรียกกันว่าสาววาย ซึ่งย่อมาภาษาญี่ปุ่น ยาโยย ซึ่งในทางกลับกันนักอ่านหนังสือแนวนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเพศทางเลือกเสมอไป เพราะหนังสือแนวนี้ยังให้ความรู้ และมุมมองที่ต่างไปกับผู้อ่านเพศอื่นที่อยากจะศึกษา และทำความเข้าใจถึงตัวตนของคนเพศทางเลือกอีกด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง