นักวิชาการแนะฝ่ายค้านใช้ข้อมูลเชิงลึกซักฟอกรัฐบาล

11 พ.ย. 55
13:19
36
Logo Thai PBS
นักวิชาการแนะฝ่ายค้านใช้ข้อมูลเชิงลึกซักฟอกรัฐบาล

นับจากนี้ไปจนถึงวันเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ตามญัตติของฝ่ายค้าน ระหว่างวันที่ 25 - 27 พ.ย.รวม 2 สัปดาห์ ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ต่างเริ่มกระบวนการเตรียมพร้อมด้านข้อมูลเพื่อซักถามและชี้แจงขณะที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เห็นว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างมีคุณภาพ คือ ผู้อภิปรายต้องมีข้อมูลเชิงลึกในการตรวจสอบถอดถอนและผู้ถูกอภิปรายควรชี้แจงแต่ละประเด็นด้วยตัวเอง โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี

ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจและถอดถอนตามบทบัญญัติในมาตรา 158 และ 159 ของรัฐธรรมนูญ โดยไม่ไว้วางใจและเห็นควรถอดถอน นายกรัฐมนตรี ด้วยข้อกล่าวหา"มีพฤติกรรมทุจริตและจงใจกระทำผิดกฎหมาย" จึงไม่ควรแก่ดำรงตำแหน่ง พร้อมแนบท้ายชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ารับหน้าที่แทน ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 และ 271
                                  

<"">

และด้วยข้อกล่าวหาเดียวกัน คือ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต และ พล.ต.ท.โทชัจจ์ กุลดิลก เห็นควรแก่การถอดถอนออกจากตำแหน่ง และกลายเป็น 2 ใน 4 ของผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากแต่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็น 1 รัฐมนตรีที่ไม่มีชื่อในญัตติถอดถอน แต่มีชื่อในญัตติขอเปิอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะมีขึ้น

รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจและการยื่นเรื่องถอดถอนครั้งนี้ เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยภายใต้ระบบรัฐสภา ที่ฝ่ายค้านต้องเดินหน้าตรวจสอบถอดถอนตามบทบาท และแม้จะไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการเมือง แต่ย่อมมีผลต่อข้อมูลพื้นฐานของประชาชนที่จะนำไปไตร่ตรองบริบททางการเมืองของรัฐบาลและฝ่ายค้านในอนาคต จึงเสนอแนะว่าฝ่ายค้านควรมีข้อมูลเชิงลึกในการอภิปราย ขณะที่รัฐบาลก็จำเป็นต้องชี้แจงด้วยข้อเท็จจริง โดยเฉพาะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับญัตติของฝ่ายค้าน

<"">
<"">

เมื่อเทียบ 2 ญัตติเข้าด้วยกัน จะเห็นว่าสาระสำคัญของข้อกล่าวหาที่ฝ่ายค้านเตรียมจะอภิปรายและรัฐบาลจะต้องชี้แจง คือเหตุแห่งความไม่สามารถไว้วางใจ นั่นหมายถึงกรณี นายกรัฐมนตรี ขาดวุฒิภาวะในการบริหารราชการแผ่นดิน และจงใจไม่รับผิดชอบต่อรัฐสภา และด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของผลในการถอดถอน คือการใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีเจตนาส่งเสริมให้เกิดการทุจริต โดยมี 3 รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องโดยตรง

นับจากนี้รวม 2 สัปดาห์เต็ม คือช่วงเวลาของการเตรียมพร้อมด้านข้อมูลของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งแน่นอนว่า ฝ่ายค้านต้องจัดแบ่งประเด็นและจัดสรรบุคลากรในอภิปราย ตามที่ประกาศไว้ว่าจะเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ขณะที่นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมสั่งการเพื่อความพร้อมในการชี้แจงแล้ว หากแต่ช่วง 2 สัปดาห์นี้กลับมีภารกิจต่างประเทศต่อเนื่อง และเหลือเวลาซักซ้อมทำความเข้าใจก่อนขึ้นเวทีอภิปรายเพียงแค่ 4 วันเท่านั้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง